Travel & Route
เชียงของ : เขตเศรษฐกิจพิเศษ – เขตจักรยาน

เรื่อง/ภาพ     Sutida

 

           ยังคงความเป็นเมืองที่ “เงียบสงบ”

           ทุกความเคลื่อนไหวในสัมผัสได้บอกว่า “เชียงของ” อำเภอชายแดนด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดเชียงราย ที่มีแม่น้ำโขงเป็นเส้นกั้นอาณาเขตติดกับประเทศลาว คือ เมืองวิถีช้า (Slow Life) ที่แท้จริง

            แม้บริบทวันนี้ “เชียงของ” ได้กลายเป็นแกนกลางแห่งเส้นทาง R3A สู่ลาว-จีน และถูกวางตำแหน่งให้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดการเติบโตของเมืองที่เป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญทางเศรษฐกิจ และอาจเกิดความเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆต่อเมืองแห่งนี้ในอนาคต

           “เชียงของ” เมืองลุ่มแม่น้ำโขง เติบโตขึ้นในฐานะชุมชนเล็กๆ บางช่วงอยู่ในสถานะเมืองอิสระ ปกครองตัวเอง แต่บางช่วงอยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรต่างๆ รวมทั้งเคยอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า และกรุงศรีอยุธยา กระทั่งเป็นหัวเมืองบริวารของสยาม

            ในยุคล่าอาณานิคมของประเทศตะวันตก เชียงของถูกกำหนดให้เป็น “ดินแดนส่วนกลาง” ระหว่างสยามประเทศกับฝรั่งเศส ที่ต้องการยึดครองดินแดนลุ่มแม่น้ำโขง ห้วงหนึ่ง เมืองต้องผจญกับการถูกรุกรานและถูกยึดเมืองโดยกลุ่มเงี้ยว ก่อนที่จะหวนกลับมาเป็นหัวเมืองหนึ่งของมณฑลพายัพ และก้าวเข้าสู่การเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงรายในเวลาต่อมา

            ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นต้องการสร้างมหาเอเชียบูรพา และได้ขอผ่านประเทศไทยไปยึดครองประเทศพม่า เชียงของเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ญี่ปุ่นได้เข้ามาตั้งฐานกำลังสนับสนุนการท้าสงคราม

            ยุคสงครามเย็น เชียงของถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สีชมพู กล่าวคือ เป็นจุดของการต่อสู้เพื่อแย่งชิงประชากรระหว่างลัทธิสังคมนิยมกับโลกเสรี (ประชาธิปไตย) แต่เมื่อสถานการณ์หลายๆด้านคลี่คลาย เชียงของได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องในฐานะอำเภอหน้าด่านของจังหวัดเชียงราย ที่มีการค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน (ลาว) และจีนตอนใต้ โดยระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา เชียงของถูกวางให้เป็นหนึ่งในแผนพัฒนาสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจเพื่อเชื่อมโยงการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และเป็นประตูสู่อินโดจีน

            ในเช้าวันนั้น ฉันปั่นจักรยานไปบนรอยเส้นทางประวัติศาสตร์ของเมืองลุ่มแม่น้ำโขงแห่งนี้ ฉันพบว่า เชียงของคือหนึ่งเมืองสองแบบ หรือเมืองที่มีสองบุคลิกอย่างที่ได้ถูกกำหนดเป้าการพัฒนาไว้จริงๆ ด้านหนึ่ง เมืองกำลังถูกขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจ ในบริบทที่มุ่งสู่ความเป็นเมืองเขตเศรษฐกิจพิเศษ กับอีกบุคลิกหนึ่งที่ยังดำรงมิติของเมืองที่สงบงาม

            ฉันปั่นจักรยานไปบนถนนสายกลางเลียบแม่น้ำโขง ถนนสายหลักที่เป็นทั้งย่านการค้า-ธุรกิจและความเป็นวิถีชีวิต อาคารพาณิชย์และโรงแรมมากขึ้น บ่งบอกว่าเมืองเจริญขึ้น ทว่า อาคารเรือนไม้เก่าก็ยังถูกอนุรักษ์เอาไว้ เบียดแทรกอยู่อย่างลงตัวในสภาวะที่เมืองเติบโตขึ้น

            ระยะทางจากหัวถนนถึงท้ายถนนราว 5 กิโลเมตรที่ฉันปั่น ได้เห็นศักยภาพในความเป็นเมืองเชียงของที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ วิถีชีวิตของผู้คนในเมืองที่เรียบง่าย เมืองไม่พลุกพล่าน ไม่แออัด เป็นเมืองที่น่าใช้จักรยานและควรได้รับการส่งเสริมให้เกิดวิถีจักรยานมากขึ้น

            จากถนนสายหลัก ฉันเลี้ยวเข้าไปถนนเลียบแม่น้ำโขง เป็นเส้นทางสัญจรริมน้ำ เป็นเส้นทางเดิน ปั่นจักรยาน ออกกำลังกาย เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งถูกออกแบบไว้ให้เอื้อต่อคนทุกกลุ่มในหลายวัตถุประสงค์ ระยะทางราว 5-6 กิโลเมตร ปั่นได้แบบสบายๆ อากาศบริสุทธิ์ของแม่น้ำโขงทำให้สดชื่นมากกว่าปกติ ได้มองเห็นวิถีเรียบๆของอีกฝั่งคือเมืองห้วยทราย ที่อยู่ใกล้กันมากเพียงแม่น้ำโขงกั้น

             ตอนนี้เทศบาลฯเชียงของกำลังเร่งปรับปรุงและพัฒนาถนนเลียบแม่น้ำโขงให้ได้มาตรฐาน เป็น Land Mark เพื่อรองรับการท่องเที่ยว เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติฝั่งแม่น้ำโขงจากจุดชมวิวห้วยทรายมาน-บ้านเมืองกาญจน์-ท่าเรือบั๊ค ซึ่งมีลานตัวหนอนเชื่อมโยงเส้นทางเลียบแม่น้ำโขง ถึงอาคารพิพิธภัณฑ์ปลาบึก ที่นี่จะเป็นเส้นทางท่องเที่ยวแบบละเลียด (Slow Travel) ที่มีเสน่ห์ไม่น้อยเลยทีเดียว

            ความเป็นหนึ่งเมืองสองแบบของเชียงของ ทำให้เห็นว่า ความเจริญสามารถคู่ขนานไปพร้อมๆกับการอนุรักษ์ ซึ่งในบริบทที่เมืองเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ การวางโซนนิ่งการพัฒนาที่แยกออกจากวิถีเมืองจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เพราะเมืองไม่ควรสุดโต่งในด้านใดด้านหนึ่ง

  

              ฉันเห็นว่า “เชียงของ” น่าจะเติมเต็ม “จักรยาน” ให้เข้ามาเป็นส่วนสำคัญของเมือง เพราะจักรยานมีความสอดคล้องและลงตัวกับความเป็นเมืองวิถีช้าแบบเชียงของ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเมืองให้มีความน่าอยู่ เป็นการดำเนินชีวิตในจังหวะที่เหมาะสมและเป็นสุข

 

 

 

 

 

 

banner ด้านขวา 1
banner ด้านขวา 2
Peenfa Creation