Travel & Route
ปั่นแพร่ 

เรื่อง/ภาพ     น้ำเย็น

 

               เวลาออกทริปต่างจังหวัด ต้องตื่นเช้าๆนะ เพราะอะไรน่ะเหรอ? ก็เพราะฉันอยากละเลียดกับบรรยากาศของบ้านเมืองนั้นที่ได้ไปแวะเยือน ซึ่งในช่วงเวลานี้มักมีอะไรดีๆให้เราได้เกี่ยวเก็บเสมอ เชื่อไหมล่ะ!

                เหมือนเช่นการมาจังหวัดแพร่คราวนี้ ฉันมีนัดปั่นจักรยานกับคุณกิจชัย  กิจภิญโญ  ประธานชมรมจักรยานจังหวัดแพร่และประธานหอการค้าจังหวัดแพร่ พร้อมด้วยคุณทรงกุล  ศิริวรกุล กรรมการชมรมจักรยานจังหวัดแพร่ ซึ่งทั้งสองท่านได้ให้เกียรติพาปั่นสำรวจเมืองแพร่ กับมุมมองและแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาจังหวัดแพร่ไปสู่เมืองจักรยาน

************

                เมืองแพร่ตอนเช้าๆ อากาศสะอาดและสดชื่น เป็นปัจจัยผลักให้ผู้คนออกมาจับจ่ายซื้อหาอาหารในตลาดกันอย่างคึกคัก เป็นวิถีที่เริ่มต้นกันตั้งแต่เช้าตรู่ของเมืองสงบงามที่ห่อหุ้มประวัติศาสตร์ฝังแน่นไว้ในย่านเขตเมืองเก่า

                จากถนนศศิบุตร จักรยาน 3 คัน ปั่นเรียบชิดแนวต้นไม้ร่มรื่นที่ปลูกเป็นแนวยาวตั้งแต่หัวถนนจนถึงท้ายถนน ซึ่งน่าชื่นชมถึงการดีไซน์และการวางผังถนนสายนี้ ที่มีถนนเมนหลักและถนนสายเล็กๆคู่ขนานกันไป เป็นทั้งทางเดินและปั่นจักรยาน

                เมื่อสุดทางของถนนศศิบุตร เราปั่นช้าๆเข้าสู่ถนนยันตรกิจโกศล ซึ่งเป็นย่านการค้าการขายที่สำคัญอีกจุดหนึ่ง จะปั่นชิดขอบถนนก็ได้หรือจะปั่นบนฟุตบาทที่ออกแบบไว้ค่อนข้างกว้างและมีแนวต้นการเวกให้ร่มเงา เชื่อมต่อไปยังถนนเจริญเมืองซึ่งเป็นย่านการค้าเก่าแก่ เป็นศูนย์รวมเศรษฐกิจ การเงิน ร้านทอง ฯลฯ

                 เราจอดจักรยานแวะดูความคลาสสิกของถนนสายนี้ที่ยังคงอนุรักษ์อาคารร้านค้าโบราณและห้องแถวไม้อายุมากกว่า 100 ปี ไว้ตลอดสองฟากถนน ซึ่งแทบมองไม่เห็นสิ่งปลูกสร้างสมัยใหม่แปลกตาเข้ามาเบียดแทรก

                เจ้าของร้านในย่านนี้ส่งรอยยิ้มให้เราอย่างมีไมตรี ทั้งอาเฮียและนายห้างที่ยืนอยู่หน้าร้าน ขณะสองเจ้าถิ่นที่นำทางปั่นให้ฉันเอ่ยทักทายผู้คนที่ผ่านไปมาด้วยประสาคนรู้จัก นี่แหละ ความน่ารักของผู้คนในเมืองเล็กๆเมืองนี้

                                                                                                  

                ปั่นออกจากย่านการค้าโบราณ มาถึง “ชุมชนน้ำคือ” บริเวณเขตกำแพงเมืองเก่า ที่มีคันดินสูงและปกคลุมด้วยต้นไม้ครึ้มเขียว คนแพร่เรียกกำแพงเมืองว่า “เมฆ” เป็นภาษาเหนือแปลว่า "กั้น" และทุกวันพุธจะมีกิจกรรมใส่บาตรบนเมฆ ที่สะท้อนถึงการยึดมั่นรักษาขนบประเพณีแห่งวิถีพุทธ

                ถนนเลียบเมฆเป็นอีกเส้นทางปั่นที่งดงามยิ่งนัก

                สองผู้นำทางพาฉันปั่นมาถึงชุมชนริมแม่น้ำยม ผ่านกาดยามเช้าที่มีชาวบ้านในละแวกนี้ออกมาซื้อผักซื้อปลาและของกินเมืองๆ หยิบยื่นและยิ้มแย้มอย่างมีสัมพันธภาพของคนท้องถิ่นที่รู้จักมักคุ้น เราหยุดพักเหนื่อยกันริมแม่น้ำยม  ท่านประธานชมรมจักรยานจังหวัดแพร่ พูดถึงความเป็นเมืองจักรยานของจังหวัดแพร่ให้ฟังว่า

                จังหวัดแพร่ได้วางแผนเป็นเมืองจักรยานกันมานานแล้วผ่านรูปแบบกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ การปั่นเพื่อการท่องเที่ยว การปั่นของกลุ่มออกกำลังกาย และการปั่นแข่งขัน ซึ่งทุกกิจกรรมมีความต่อเนื่องและขยายตัว-เติบโตเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในส่วนของภาคเอกชนเองก็กระตุ้น สร้างกลุ่ม และจัดแข่งขันจักรยานมาโดยตลอด ทั้งยังมองถึงการส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันด้วยเช่นกัน ด้วยความเป็นเมืองขนาดเล็กและเป็นเมืองเก่ามีความเป็นมิตรกับจักรยานอย่างมาก แต่โจทย์คือ ทำอย่างไรให้คนออกมาใช้จักรยานกันให้มากขึ้น

                “ต้องเป็นนโยบายระดับจังหวัดและอปท.ที่ต้องให้ความสำคัญ ต้องระดมและร่วมคิดกันในทุกภาคส่วนให้ร่วมกันเสนอและผลักดันไปด้วยกัน เราต้องพัฒนาโครงสร้างให้เอื้อต่อการปั่นจักรยาน เริ่มในเขตเมืองเก่าก่อน ปั่นตอนกลางวันร้อน ก็อาจต้องปลูกต้นไม้ร่มรื่นตลอดแนวถนน ปรับปรุงถนน ฟุตบาท และทำทางจักรยาน ทุกเรื่องเหล่านี้ต้องเริ่มทำพร้อมๆกับกระตุ้นส่งเสริมไปในตัว”

                ขณะที่ ทรงกุล  ศิริวรกุล กรรมการชมรมจักรยานจังหวัดแพร่ มองว่า ไม่จำเป็นต้องรอให้มีทางจักรยานแล้วถึงจะออกมาปั่น แต่ในความจริงสามารถปั่นจักรยานได้โดยไม่ต้องมีทางจักรยาน เพราะแพร่เป็นเมืองเล็ก ถนนบางจุดไม่สะดวกต่อการปั่น ก็ขึ้นปั่นบนฟุตบาทได้ แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องทำโครงสร้างพื้นฐานให้เอื้อต่อการใช้จักรยานให้มากที่สุด เพราะสิ่งสำคัญอยู่ที่วินัยจราจรของการใช้พาหนะทุกประเภทที่ต้องมีวินัยและเอื้อเฟื้อต่อกัน

                “ถ้าเราจะเป็นเมืองจักรยาน ก็ต้องให้สิทธิ์คนใช้จักรยาน เราอาจทำโปรโมชั่น เช่น ใครปั่นจักรยานมาซื้อของที่ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการก็จะได้ส่วนลด ทำได้และใช้งบประมาณน้อย ต้องทำแผนยุทธศาสตร์เมืองจักรยานให้สัมพันธ์กับการพัฒนากับเขตเมืองเก่า เป็นวาระของจังหวัดที่ต้องส่งเสริมการใช้จักรยานไปยังทุกภาคส่วน และสร้างจิตสำนึกของคนที่ปั่นจักรยาน”

 

************

  

               สายแล้ว ฟ้าเมืองแพร่คลุมฝนและบังแดดไว้ สองล้อและแรงขายังคงปั่นตามกันไป เลาะเข้ามายังเขตเมืองเก่าอีกด้านหนึ่ง พื้นที่เมืองเก่าของแพร่ ยังคงเคลือบทับด้วยร่องรอยของแหล่งโบราณสถานและองค์ประกอบหลักของเมืองอย่างชัดเจน คือ กำแพงเมืองและคูเมือง มีความกว้างประมาณ 800 เมตร ยาวประมาณ 1,400 เมตร ผังเมืองเปรียบคล้ายหอยสังข์ มีกำแพงเมืองหรือคันดินล้อมรอบทุกด้าน มีความสูง 5 - 6 เมตร ส่วนฐานกว้างราว 10 เมตร โดยมีคูน้ำอยู่ด้านนอกกำแพง ภายในพื้นที่กำแพงเมืองเก่ามีโบราณสถานและอาคารที่มีดีไซน์สถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่า นอกเขตกำแพงเมืองและคูเมือง เป็นสถานที่อยู่อาศัยและย่านการค้า

               

เราเลาะเข้าสู่อดีตในตรอกซอย ที่มีห้วงความทรงจำปรากฏของวัดเก่าคู่บ้านคู่เมืองทั้งวัดหัวข่วง วัดพระนอน วัดหลวง วัดศรีชุม ฯลฯ คุ้มเจ้าหลวง อาคารไม้เก่า บ้านเรือนไม้เก่าของคหบดี พิพิธภัณฑ์ ที่ยังดำรงอยู่และรักษาไว้อย่างดีมากกว่า 10 อาคาร ทุกเรื่องราวบ่งบอกถึงความเป็นเมืองทำไม้อันเลื่องชื่อและความรุ่งเรืองในวันวาน  เปี่ยมด้วยคุณค่าที่ประดับแน่นอยู่กับเสาไม้ต้นใหญ่และความอ่อนช้อยของลวดลายและดีไซน์ของอาคารแต่ละหลังที่มีเสน่ห์ชวนชื่นชมยิ่ง

             สองเส้นของวงล้อจักรยานที่ปั่นวนอยู่ในผังเมืองรูปหอยสังข์เขตกำแพงเมืองเก่า ทำให้ได้เห็นศักยภาพของทุกย่านถิ่นที่พร้อมจะเป็นเมืองจักรยาน ทุกตรอกซอยแสนสงบ มีชีวิตแบบช้าๆ สามารถปั่นจักรยานได้อย่างสะดวก

                จังหวะก้าวที่ทุกฝ่ายของจังหวัดแพร่กำลังร่วมเอาจริงเอาจังที่จะพัฒนาไปสู่เมืองจักรยาน ฉันว่า “จักรยาน” ช่างเป็นมิตรกับเมืองนี้เป็นอย่างยิ่ง

banner ด้านขวา 1
banner ด้านขวา 2
Peenfa Creation