Travel & Route
สองแรงน่อง ท่องเมือง : ขี่จักรยานอย่างไร?ในเมืองเชียงใหม่...ให้ปลอดภัย

โดย   ดร.นิรันดร  โพธิกานนท์

 

         ศ.เฉลิมพล แซมเพชร เคยค้นข้อมูลมาเล่าว่า การขี่จักรยานมีอันตรายเกิดขึ้นน้อยกว่าการขับขี่จักรยานยนต์และรถยนต์เสียอีก นอกจากนั้น อ.ดร.บุญส่ง สัตโยภาส ศูนย์วิจัยการจราจร มช.ได้ยกข้อเขียนของ Rodney Tolley มากล่าวอ้างถึงประโยชน์ของการใช้จักรยานเดินทางในพื้นที่เขตเมืองไว้น่าสนใจว่า การใช้จักรยานเป็นการเดินทางที่เท่าเทียม ช่วยลดการเสียชีวิตและอุบัติเหตุบนท้องถนน เป็นการสัญจรที่รวดเร็วในชั่วโมงเร่งด่วน  เป็นการสัญจรที่เชื่อถือได้ สามารถทำให้ทุกคนเคลื่อนที่ได้ เป็นการสัญจรที่ไม่เป็นอันตราย และศ.เฉลิมพล เพิ่มเติมว่า ถึงแม้เด็กจะมีอันตรายจากการขับขี่จักรยานมากกว่าผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะและมีสติสัมปชัญญะดีกว่า แต่ในภาพรวม อันตรายจากจักรยานในจำนวนชั่วโมงที่ขับขี่จักรยานทั้งหมด ก็นับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับอุบัติเหตุในท้องถนนจากยานพาหนะอื่น 

         ส่วนใหญ่ผู้ขับขี่จักรยานมักจะได้รับอันตรายจากความผิดพลาดของตัวเองในการขับขี่ที่ผาดโผนหรือเมื่อลงจากเส้นทางดอยที่ลาดชัน ส่วนการชนกันเองของผู้ขับขี่จักรยานที่ร่วมขี่ไปด้วยกันจำนวนมากเป็นขบวนมักจะเกิดขึ้นเมื่อมีการหยุดรถกระทันหันแบบลืมตัว เช่นนึกว่าลืมของ ณ ที่แวะระหว่างทาง หรือหมวกที่สวมเกิดหลุด..และเผลอตัวหยุดทันที ส่วนที่เกิดจากความเผลอเรอ คือขี่แซงแล้ววกคืนเข้าแถวตัดหน้าคนที่อยู่หน้าจนล้อเกี่ยวกันล้มก็พบเห็นกันน้อยลง อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนั้นส่วนใหญ่มีความรุนแรงน้อยไม่ค่อยจะบาดเจ็บกันเท่าใดนัก  แต่เมื่ออ่านถึงตรงนี้ก็ฝากเตือนทุกคนว่า..อุบัติเหตุและอันตรายเกิดได้เสมอ..แต่การระมัดระวัง และการมีสติที่รู้ตัวว่ากำลังทำอะไรจะช่วยเราได้เสมอ 

          มีข้อสังเกตุให้เข้าใจอยู่ว่าการใช้ความเร็วเกินไปของรถยนต์ในเขตเมือง เป็นความเสี่ยงให้เกิดอันตรายกับผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคน ในถนนที่ว่างจึงอาจมีอันตรายรุนแรงได้มากกว่าในถนนที่รถติดกันมากในชั่วโมงเร่งด่วน ในปัจจุบันตำรวจจราจรและทางเทศบาลก็เริ่มมีมาตรการลดความเร็วด้วยการติดตั้งป้ายเตือนให้จำกัดความเร็วไว้ไม่เกิน 45 กม./ชม. เหลือแต่ว่าต่อไปจะตรวจจับ บังคับตามกฎหมาย ควบคู่กับการประชาสัมพันธ์สร้างสำนึกให้ผู้ใช้รถยนต์และมอเตอร์ไซด์ใช้ความเร็วตามกำหนดนั้นอย่างจริงจังอย่างไร ในถนนหน้าโรงเรียนต่างๆ ในชั่วโมงเร่งด่วน..ถึงจะมีรถยนต์ติดมากก็จริง แต่ยากที่จักรยานจะถูกชน  เพียงแต่มีปัญหามลพิษมากเท่านั้นเอง ที่กล่าวถึงเรื่องอันตราย สาเหตุ และตัวอย่างนั้น ก็เพื่อจะเตือนว่า จริงๆแล้วเป็นเรื่องที่เราระมัดระวังและควบคุมสถานการณ์ได้เป็นส่วนใหญ่ 

          เมืองเชียงใหม่เป็นเมืองที่ผู้ใช้รถใช้ถนนขับขี่กันตามใจ ไม่ค่อยจะเคารพกฎจราจรกันเท่าใดนัก..โดยเฉพาะการเร่งไฟเหลืองและฝ่าไฟแดง แต่คนเชียงใหม่ส่วนใหญ่มีจิตใจดี อารมณ์ดี..อภัยและยิ้มให้กันง่าย แต่ถนนหนทางของเมืองเชียงใหม่ถูกการจราจรรอบคูเวียงเมืองเก่าบังคับให้สัญจรทางเดียวมาก  การขับขี่จักรยานให้ปลอดภัยในเมืองเชียงใหม่ในหลาย ๆ ถนน จึงต้องมีข้อแนะนำแก่ผู้ที่มีจิตใจดี และเป็นผู้ร่วมกันใช้รถจักรยานในชีวิตประจำวันให้เพิ่มขึ้นได้อย่างปลอดภัยด้วย ดังนี้

          1.ต้องเรียนรู้และปฏิบัติตามกฎจราจร เช่น ขับขี่ชิดซ้ายของถนนเสมอ เมื่อจะเลี้ยวขวาต้องให้สัญญานแก่รถที่ตามหลังล่วงหน้า ว่าต้องการเลี้ยวขวานะ และเพื่อให้เห็นสถานการณ์ได้ดีโดยไม่ต้องหันไปหันมามากเกินไป ก็ควรติดกระจกมองหลังซึ่งมีขายหลายราคาให้เลือกซื้อ  เมื่อจะขี่ออกทางแยกให้หยุดดูรถที่มาให้ปลอดภัยก่อนแล้วจึงออกไป  เมื่อถึงวงเวียนให้รถทางขวาไปก่อน  ณ สี่แยกซึ่งมีช่องให้รถเลี้ยวซ้ายผ่านตลอดให้อยู่ชิดขวาสุดของช่องนั้น ซึ่งจะทำให้รถเลี้ยวซ้ายผ่านไปได้ โดยเขาไม่รู้สึกว่าเรากีดขวางการสัญจร ทำให้เขามีทัศนะที่ดีและอยากร่วมมือให้ทางแก่ผู้ใช้รถจักรยานอยู่เสมอ

          2.ฝึกฝนให้มีสัญชาตญาณหรือสามัญสำนึกด้านความปลอดภัยแก่ตนเอง เช่น

          1)เมื่อจะเลี้ยวขวา ณ สี่แยกที่ติดสัญญาณไฟแดงนั้นให้เลือกอยู่ริมซ้ายสุดของช่องทางสำหรับการเลี้ยวขวาขณะรอไฟเขียว เมื่อเคลื่อนออกไปแล้วก็ให้สัญญาณมือชิดซ้ายและอย่าขี่ตัดโค้ง เพื่อให้รถที่เร็วกว่าแซงขึ้นไปทางขวาได้อย่างปลอดภัย

          2)ในการขับขี่ไปคนเดียวบนถนนที่ไม่กว้างนัก ถ้ารู้สึกว่ามีรถตามหลังมา ให้โบกมือเป็นสัญญาณให้เขาแซงไป ส่วนใหญ่จพบว่าเขาจะรับรู้และจะแซงห่างเรามากกว่าไม่ได้ให้สัญญาณอะไรเลย

          3)เมืองเชียงใหม่มีถนนรอบคูเวียงที่เป็นถนนทางเดียวซึ่งถือว่ายากที่สุดในการใช้จักรยาน เมื่อจะขี่จากถนนสุเทพเข้าตัวเมืองด้านใน ในเวลาที่มีรถวิ่งมาจากทางขวามากๆ การเหลียวดูหลังมากๆ บ่อยๆจะทำให้เราขี่เป๋ไปมาได้โดยไม่ตั้งใจ  ขอแนะให้ไปหยุดชิดซ้ายใกล้ประตูมาลาเรีย เมื่อมีจังหวะว่างแล้วใช้วิธีจูงรถข้ามถนนไปยังเกาะกลางสามแยกช่องทางเข้าออกคูเวียง ณ ช่องเลี้ยวขวาก่อน จากนั้นค่อยขี่ชิดซ้ายเลี้ยววนขวาโดยดูจังหวะว่างของรถที่มาทางซ้ายในคูเวียงให้ปลอดภัยก่อนไปต่อ

          4)เมื่อจะออกจากคูเวียงที่สามแยกหน้าโรงเรียนวัฒโนทัย ในเวลาที่มีรถมากและเร็ว ให้หยุดรอ ณ เกาะกลางถนนช่องออก ซึ่งรถที่เร็วกว่าจะขับแซงขวาไปได้  เมื่อรอจนได้จังหวะที่ว่างแล้วให้จูงรถข้าม จะคล่องตัว รวดเร็วและปลอดภัยกว่าการขี่ไปกับกระแสจราจรที่เราต้องระวังซ้ายและเหลียวหลังบ่อยๆ

          5)เมื่อขี่รถไปตามถนนมณีนพรัตน์และต้องการเลี้ยวขวาไปตามถนนรอบคูเวียง(ถนนชัยภูมิ)ที่แจ่งศรีภูมิไปยังสี่แยกสมเพชร ต้องให้สัญญาณเลี้ยวขวาแต่เนิ่นๆ ในขณะที่รถที่ตามหลังเรายังอยู่ห่างพอสมควร แล้วค่อยๆ เปลี่ยนช่องทางมาอยู่ ณ ส่วนซ้ายสุดของช่องเลี้ยวขวา ก่อนถึงแจ่งศรีภูมิและขี่ตามแนวโค้งไปชิดซ้ายในถนนชัยภูมิต่อไป โดยให้รถที่เร็วกว่ามีที่ว่างแซงทางขวามือของเราไปได้ ถ้ารถมีมากให้ไปหยุดรอตรงบริเวณปลอดภัย ณ ปากทางเข้าถนนอัษฎาธร แล้วรอจังหวะจูงข้ามเกาะกลางถนน ไปยังถนนชัยภูมิก็ได้

         6)ถ้าต้องการขี่จากถนนท่าแพซึ่งเป็นถนนทางเดียวไปยังวัดพระสิงห์ ให้เตรียมหาจังหวะว่างส่งสัญญาณขอชิดขวาไว้ตั้งแต่วัดมหาวัน เมื่อชิดขวาได้แล้วให้ตรงไปหยุดรอจูงข้ามในบริเวณเกาะกลางสามแยกหน้าข่วงประตูท่าแพ เพื่อรอจังหวะจูงข้ามไป จากนั้นไปรอจังหวะจูงข้ามทางม้าลายหลังประตูท่าแพเพื่อเข้าถนนราชดำเนิน

         7)ในถนนที่แคบเช่นในซอยต่างๆ ย่านท่าแพ ช้างม่อย และลอยเคราะห์ ซึ่งเป็นเสน่ห์ของเมืองโบราณคล้ายๆกรุงอัมสเตอร์ดัม ซึ่งคนสมัยก่อนไม่ได้วางแผนไว้ให้คนขับขี่รถยนต์ที่กินเนื้อที่ถนนมากอย่างปัจจุบัน  เมื่อมีทั้งรถที่จะสวนมาในขณะที่จะมีรถหลังแซงเราขึ้นไป เราไม่ควรขี่ชิดซ้ายมากเกินไปให้เขาเบียดแซงจนเกิดอันตรายขณะที่มีรถกำลังสวนมา  แต่ควรให้สัญญาณมือเพื่อขี่ออกมาในถนนให้มากพอโดยไม่ต้องกลัว  รถยนต์ที่มาข้างหลังจะตามอยู่หลังเราจนกว่าจะสวนกันเรียบร้อยแล้ว..เราจึงเปิดทางให้แซง  หลักการนี้ให้ใช้ในสถานการณ์ที่คล้ายกันบนถนนสันเขื่อนอ่างแก้ว มช.ด้วย

          3.ติดตั้งอุปกรณ์ปลอดภัยต่างๆ ให้ครบถ้วน เช่น กระจกมองหลัง ไฟท้ายกระพริบได้สำหรับกลางคืนและกระดิ่งที่มีเสียงดี

          4.ต้องมีทัศนคติที่ดีต่อผู้อื่น

         ในเบื้องต้น เราต้องคิดว่าไม่มีใครอยากขับรถไล่ชนหรือเบียดเราเพื่อความสนุกสนาน ให้มีจิตใจเมตตาให้อภัยแก่ผู้อื่นที่ใช้รถใช้ถนนร่วมกับเราเสมอ หากเขาขับแซงเราขึ้นไปที่ออกจะใกล้ชิดสักหน่อย ก็อย่าอารมณ์เสียว่า..แม่ง..ตั้งใจแกล้งเราอีกแล้ว การรักษาจิตใจให้ดีทำให้เรามีเมตตาแก่ผู้อื่น..ทำให้มีสมาธิและมีความมั่นใจในการเลือกวิถีชีวิตเพื่อสิ่งแวดล้อม..เพื่อร่วมกันสร้างเมืองของเราให้น่าอยู่ และจะทำให้เราไม่กลัวอะไรเกินเหตุ เช่น ดูซิ..ป้าเหมยอิงยังถูกชนเสียชีวิตไปแล้ว..ต่อไปคงถึงทีเราแน่ๆๆ !!!  การคิดแบบบัญญัติไตรยางค์นี้จะทำให้เราทำอะไรไม่สำเร็จหรือไม่ทำอะไรที่เราสามารถทำได้ต่อไป คล้ายๆกับจะไม่ขึ้นเครื่องบินการบินไทยอีกต่อไปเมื่อมีเหตุเครื่องบินตกเกิดขึ้น

          ถ้าเรารอให้มีทางจักรยานให้เหมือนในญี่ปุ่น  เบรเมน หรือวาเกนนิงเกน คือมีทางจักรยานที่แยกต่างหากจากถนนหนทางปกติให้เราเสียก่อน แล้วจึงค่อยมาขี่รถถีบกัน  ก็คงจะมีแต่คนรอให้คนเลิกการใช้รถยนต์และรอให้มีผู้บริหารบ้านเมืองที่ไม่สนใจขี่หรือไม่รู้เรื่องจักรยานมีความคิดที่จะสร้างทางจักรยานให้เราก่อน..ซึ่งเป็นไปได้ยาก ถ้าเรามีผู้ว่าฯ มีนายกเทศมนตรีที่สนใจผู้ใช้จักรยาน..ถึงแม้จะไม่สามารถมาขี่กันได้บ่อยๆ แต่การขี่สัญจรบ้างไม่มากก็น้อย..ก็ทำให้เขารู้ว่า  การขี่จักรยานนั้นมีดีอะไรและควรสนับสนุนดูแลอะไรกันบ้าง  เมืองอัมสเตอร์ดัมไม่มีทางจักรยานแยกต่างหากจากถนนมากมายเหมือนเมืองอื่นๆ แต่คนใช้จักรยานมากที่สุด !

          คูเมืองด้านในไม่มีบัญหา แต่อาจเจอรถติด

          คูเมืองด้านนอก คุณพระช่วย !!! ผมว่ามันค่อนข้างอันตรายนะ อยากให้คุณระวัง ๆ ไว้ด้วย ระหว่างคูเมือง จะข้ามไปฝั่งถนนสุเทพ คือแถว ๆ ประตูสวนดอก รถเยอะและเร็วมากครับ เพราะรถลงทางด่วนมา และจากสนามบินมา
จะตัดรถเบี่ยงข้ามไปถนนสุเทพนี่ต้องดูดีดี แต่ถ้าข้ามไปได้แล้วก็โอเคนะครับ

          แนะนำปั่นตามถนนนิมมาน ( มีจังหวะรถติด 5 โมงแปบนึง ) แวะเข้าซอยต่าง ๆ มีร้านเก๋ ๆ เยอะ
ปั่นเส้นถนนสุเทพหลังมอขึ้นไปกาแล (อาจจอดแล้วเข็นไปจังหวะนึง) กาแลเป็นอ่างเก็บน้ำ มองลงมาเห็นวิวเชียงใหม่
อันนี้ไปค่ำ ๆ อย่าให้มืด เพราะทางลงมันชัน

          ปั่นเข้า มช. ก็ได้นะครับ เกาหลี ญี่ปุ่นปั่นเที่ยวกันประจำ ไปถ่ายรูปกับหอนาฬิกา แล้วไปเดินเล่นอ่างแก้ว (หน้ามอ) ศาลาธรรม ลานสัก แล้วออกประตูหน้ามอ ไปหาอะไรกินที่ ตลาดมาลิน (เลยกาดหน้ามอ ตรงข้ามประตูใหญ่ไปอีกนิด)
          อุ้ย !!! แนะนำเกินความต้องการไปนิด

 

banner ด้านขวา 1
banner ด้านขวา 2
Peenfa Creation