โดย น้ำเย็น
จากเชียงใหม่สู่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย คือความตั้งใจของฉันที่ต้องการมายังปลายทางนี้
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย มรดกโลกอันมีคุณค่ายิ่ง หลักฐานชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมั่งคั่งและยิ่งใหญ่ของสุโขทัยในอดีต
ครอบคลุมพื้นที่โบราณสถานกรุงสุโขทัย ศูนย์กลางการปกครองของอาณาจักรสุโขทัย ซึ่งมีอำนาจอยู่บริเวณภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18-19 ห่างจากตัวเมืองสุโขทัยปัจจุบัน (เขตเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี) ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 12 กิโลเมตร ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 หรือ ถนนจรดวิถีถ่อง
กลางวัน แดดที่นี่แรงมาก แต่ท้องฟ้าสวยเหลือเกิน มองแล้วสดชื่น สบายใจ ทำให้ช่วยคลายร้อนไปได้ชั่วขณะ แต่อย่างไรเสีย ฉันว่าช่วงแดดร่มลมตกราว 4 – 5 โมงเย็น น่าจะเป็นเวลาเหมาะที่จะออกย่ำเยือนอาณาจักรแห่งนี้มากกว่า เพราะอากาศที่ร้อนจัดยามบ่ายอาจทำให้อรรถรสในการศึกษาและเที่ยวชมโบราณสถานลดลงได้ง่ายๆ
เมื่อแดดร่ม ลมเย็น บรรยากาศภายในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยช่างน่าเดินและน่าปั่น ฉันกับจักรยานสีฟ้า ที่เช่ามาจากร้านเช่าจักรยานด้านหน้าอุทยานฯในราคา 20 บาท เลาะเลียบไปตามเส้นทางในอาณาบริเวณแสนกว้างใหญ่ ที่มีความสวยงามและสงบเย็น
ฉันปั่นไปบนผังเมืองที่มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีความยาวประมาณ 2 กิโลเมตร กว้างประมาณ 1.6 กิโลเมตร มีประตูเมืองอยู่ตรงกลางกำแพงเมืองแต่ละด้าน ภายในเมืองยังเหลือร่องรอยพระราชวังและวัดอีก 26 แห่ง วัดที่ใหญ่ที่สุดคือวัดมหาธาตุ อุทยานแห่งนี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์โดยกรมศิลปากร ด้วยความช่วยเหลือจากองค์การยูเนสโก มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมหลายแสนคนต่อปี
แนวถนนภายในอุทยานฯถูกออกแบบไว้อย่างลงตัวสะดวกต่อการปั่น มีที่จอดจักรยานในสถานที่สำคัญๆแต่ละจุด ผนวกกับความเขียวขจีของต้นไม้ใบหญ้า โดยเฉพาะแนวต้นมะขามหลายร้อยต้นที่ยืนเรียงต้นสูงใหญ่แผ่ร่มเงา ยิ่งทำให้เพลินที่จะปั่นอย่างไม่รู้สึกเหนื่อยและเบื่อเลย
สุโขทัย ในอดีตเคยเป็นราชธานีแห่งแรกของชาติไทย เมื่อกว่า 700 ปีมาแล้ว สุโขทัย มาจากคำสองคำคือ สุข+อุทัย ความหมายคือ รุ่งอรุณแห่งความสุข เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.1800 มีการสถาปนาราชวงศ์พระร่วงขึ้นปกครอง โดยมีพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็นปฐมกษัตริย์
ตลอดระยะเวลา 120 ปี ราชวงศ์สุโขทัย มีกษัตริย์ปกครองหลายพระองค์ ที่สำคัญคือ "พ่อขุนรามคำแหงมหาราช" ที่ได้แผ่อาณาจักรออกไปกว้างขวางคลุมเขตประเทศไทยเกือบหมด บ้านเมืองเจริญทุกด้าน ไม่ว่าด้านประวัติศาสตร์ ยุทธศาสตร์ กฏหมาย การปกครอง เศรษฐกิจ ศาสนา และวัฒนธรรมประเพณี ทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นเมื่อ พ.ศ.1826 และได้จารึกไว้ในแผ่นศิลามากมาย ซึ่งศิลาจารึกเหล่านี้เป็นหลักฐานสำคัญที่ทำให้รู้เรื่องราวของเมืองสุโขทัยมากขึ้น ซึ่งการมีภาษาเป็นของตนเองนั้นบ่งบอกถึงอารยธรรมอันสูงส่งของคนไทย
ประชาชนยุคนั้นมีความเป็นอยู่ดีมีสิทธิเสรีภาพดั่งคำจารึกว่า "ไพร่ฟ้าหน้าใสในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เพื่อนจูงวัวไปค้าขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า"
เพลิดเพลินกับทุกสิ่งภายในเขตอุทยานฯแล้ว จึงออกปั่นไปสัมผัสบรรยากาศด้านนอกบ้าง มีวัดสำคัญๆหลายวัด ฉันปั่นมาถึงวัดช้างล้อม อยู่ห่างจากประตู้อ้อไปทางทิศตะวันตกประมาณ 2.4 กิโลเมตร มีโบราณสถานที่สำคัญประกอบด้วย เจดีย์ทรงกลมแบบลังกา ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีช้างโผล่ครึ่งตัว มีจำนวน 24 เชือก พระอุโบสถอยู่ด้านหน้าเจดีย์ประธาน และมีเจดีย์ราย 5 องค์ ล้อมรอบเจดีย์ประธาน และโบสถ์
เพลินถึง 6 โมงเย็น รีบปั่นจักรยานกลับ เจ้าของร้านเช่าจักรยานนั่งยิ้มรอฉันนำจักรยานมาคืนเป็นคันสุดท้ายและเตรียมจะปิดร้าน
จักรยานสีฟ้าถูกนำไปจอดในร้านเช่นเดิม ส่วนฉันเดินออกจากร้านอย่างมีความสุข เพราะการปั่นจักรยาน ณ กรุงเก่าสุโขทัย ครั้งนี้ เปี่ยมด้วยสุนทรียรส ยิ่งนัก