ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง ชุมชนโบราณอายุกว่า 600 ปี เป็นตำบลขนาดเล็กด้านทิศตะวันออกของจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยลักษณะเด่นหลายประการของตำบลแห่งนี้ จึงได้รับการคัดเลือกให้เป็นพื้นที่ชุมชนนิเวศ (Eco Village) ต้นแบบของจังหวัดเชียงใหม่
สภาพภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบท่ามกลางหุบเขา 11 หมู่บ้านของชุมชนแห่งนี้บรรยากาศร่มรื่นด้วยต้นไม้ตลอดสองข้างทางเข้าหมู่บ้าน มีโครงการพัฒนาพื้นที่ห้วยลาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ออน รายล้อมด้วยทุ่งนาสีเขียว สะท้อนถึงการเป็นวิถีเกษตรกรรมและระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์
การคัดเลือกให้ “ตำบลออนใต้” เป็นพื้นที่ชุมชนนิเวศ (Eco Village) ต้นแบบของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาของจังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้จัดทำโครงการแผนแม่บทการพัฒนาเชียงใหม่ เพื่อพัฒนาชุมชนตามกระบวนการพัฒนาชุมชนเชิงนิเวศ ที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน
บริบทของเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมจากการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน รวมถึงการเพิ่มขึ้นของประชากรที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งผลจากการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคมดังกล่าว ได้ส่งผลให้จังหวัดเชียงใหม่กำลังประสบปัญหาพื้นที่แหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลายเริ่มลดลง เสื่อมโทรม ไม่เพียงพอต่อความต้องการ บางพื้นที่มีการบุกรุกทำลายป่าและพื้นที่ป่าต้นน้ำ
ขณะที่ปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงด้านสังคม ภูมิปัญญาพื้นบ้านและวัฒนธรรมท้องถิ่นในหลายๆพื้นที่เริ่มสูญหาย ขาดการส่งเสริมให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เข้ามาสืบทอด จึงทำให้จังหวัดเชียงใหม่ต้องวางยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง โดยมุ่งเน้นการพัฒนาชุมชนนิเวศทั้ง 25 อำเภอ โดยให้ความสำคัญกับการเข้าถึงข้อมูลและพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อการบริหารเชิงป้องกัน ปรับเปลี่ยนแบบแผนการผลิตและการบริโภคให้เกิดความยั่งยืน ควบคู่กับการรื้อฟื้นภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการฐานทรัพยากรของตนเอง และสร้างทางเลือกของการพัฒนาบนความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม ที่สะท้อนถึงความเข้มแข็งและภูมิปัญญาของชุมชนท้องถิ่น
การพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ให้เป็นเมืองน่าอยู่ (Eco Village) จะพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาของจังหวัดด้านอื่นๆ โดยเฉพาะการที่ได้กำหนดนโยบายการพัฒนาให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงทั้งภาคพื้นดินและอากาศ อาทิ การเชื่อมโยงไปจังหวัดแม่ฮ่องสอนสู่พม่าและอินเดีย การเชื่อมโยงไปจังหวัดลำปางและแพร่สู่ส่วนต่างๆของประเทศ (Land Logistics Hub & Rail Hub) และการพัฒนาสนามบินสู่การเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub)
ขณะนี้โครงการได้ดำเนินการเก็บข้อมูล สังเคราะห์ข้อมูลร่วมกับชาวบ้านและผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เพื่อให้แผนพัฒนานี้มีความรอบด้านทั้งประสบการณ์ตรงของชาวบ้าน และความรู้ความเชี่ยวชาญจากผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยการพัฒนาชุมชนนิเวศในพื้นที่ตำบลออนใต้ จะมีการจัดทำแผนแม่บทในการจัดตั้งตำบลน่าอยู่ (Eco Village) หรือชุมชนต้นแบบเชิงนิเวศของจังหวัดเชียงใหม่ทั้ง 25 อำเภอ
หลังจากการพัฒนาชุมชนต้นแบบตำบลออนใต้แล้ว จังหวัดเชียงใหม่ก็มีแผนในปี 2557 โดยวางงบประมาณไว้ 20 ล้านบาท ขยายพื้นที่ไปสู่อีก 4 อำเภอ คือ อำเภอกัลยาณิวัฒนา อำเภอแม่แจ่ม อำเภออมก๋อย และอำเภอสะเมิง เพื่อพัฒนาไปสู่ชุมชนนิเวศ (Eco Village) โดยมีชุมชนออนใต้เป็นโมเดลหรือเป็นชุมชนต้นแบบ โดยเมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการดำเนินงานชุมชนนิเวศระหว่างจังหวัดเชียงใหม่กับตัวแทนองค์กรระหว่างประเทศ World Eco Village เพื่อร่วมพัฒนาชุมชนนิวเศตามยุทธศาสตร์การพัฒนาของจังหวัดเชียงใหม่
นายเจริญ ปัญญาจันทร์ ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลออนใต้ เปิดเผยว่า วิถีชุมชนของชาวออนใต้ เป็นช่วงที่เกือบจะหมดไปเหมือนกับอีกหลายๆชุมชนที่ถูกความเจริญ ความทันสมัยเข้าแทรกซึม แต่ด้วยความสามัคคีของชาวบ้านที่รวมพลังกันรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมเอาไว้ ซึ่งที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังปฎิบัติกันมาโดยตลอดก็คือ การให้การเคารพญาติผู้ใหญ่ ปู่ย่า ตา ยาย การบูชาเจ้าที่ เลี้ยงผี เข้าวัด ทำบุญ รักษาประเพณีในเทศกาลต่างๆ
ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพหลักคือ ทำนา ทำสวน ทำไร่ ซึ่งปัจจุบันยังคงดำรงรักษาวิถีเกษตรกรรมได้อย่างเข้มแข็ง มีอ่างเก็บน้ำ 2 แห่งคือ อ่างเก็บน้ำผาแหน กับอ่างเก็บน้ำห้วยลาน ที่ยังประโยชน์ให้กับประชาชนทั้ง 11 หมู่บ้าน ที่ใช้น้ำเพื่อการเกษตร และอุปโภคบริโภ ดังนั้น การมีอ่างเก็บน้ำ 2 แห่งก็นับว่าทำให้ผลผลิตมีความอุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปี
ในด้านเศรษฐกิจชุมชน มีโครงการออมทรัพย์หมู่บ้านวันละ 1 บาท เก็บจากสมาชิกเข้าร่วมโครงการวันละ 1 บาท เป็นการออมเงิน ตอนนี้มีสมาชิก 1,912 คน ทุกๆวันชุมชนก็จะมีเงินเข้าโครงการวันละ 1,912 บาท เขาทำโครงการนี้มา 2 ปี ปัจจุบันมีเงินราว 2 ล้านบาท ซึ่งเงินวันละบาทของชาวบ้านทั้ง 11 หมู่บ้าน ก็จะเป็นกองทุนบุญเกี่ยวกับสวัสดิการสังคมด้านต่างๆ
นายเจริญ กล่าวว่า งานหัตถกรรมโบราณของชุมชนที่กำลังได้รับการฟื้นฟูก็คือ เครื่องปั้นดินเผาสัญลักษณ์รูปปลาคู่ ซึ่งหายไปนานถึง 300 – 400 ปี เป็นอัตลักษณ์ของตำบลออนใต้เพียงแห่งเดียวเท่านั้น ถือเป็นงานศิลปะเครื่องปั้นดินเผาที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน โดยได้รับอิทธิพลมาจากประเทศจีน ซึ่งในสมัยเมื่อกว่า 600 ปี มีชาวจีนอพยพมาอยู่ที่เมืองโยนก จังหวัดลำปางกันจำนวนมาก และเข้ามาแผ่อิทธิพลทำเครื่องปั้นดินเผาสัญลักษณ์รูปปลาคู่ให้กับชาวโยนก และต่อมาชาวโยนกก็อพยพเคลื่อนย้ายมาอยู่ในพื้นที่ชุมชนออนใต้ เครื่องปั้นดินเผาปลาคู่ก็เลยเป็นศิลปวัฒนธรรมชิ้นเอกของชุมชนออนใต้อย่างน่าห่วงแหน และตอนนี้กำลังได้รับการอนุรักษ์ขึ้นมาอีกครั้ง โดยจะมีการพัฒนาสร้างเตาเผา เน้นรูปแบบเตาเผาเดิมที่ใช้ฟืน และพัฒนาด้านการตลาดให้เป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชนในอนาคต
ชุมชนออนใต้เป็นหมู่บ้านธรรมดาๆ มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย หมู่บ้านเงียบสงบ อยู่กันแบบพี่แบบน้อง พึ่งพาอาศัยกัน มีวัฒนธรรมที่อนุรักษ์ไว้อย่างเหนียวแน่น ซึ่งความเป็นเมืองนิเวศนั้น ไม่ได้หมายถึงการมีสิ่งแวดล้อม มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์เพียงอย่างเดียว ซึ่งนั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความเป็นชุมชนนิเวศเท่านั้น แต่ยังมีองค์ประกอบอื่นๆอีกไม่ว่าจะเป็นคน สังคม และวัฒนธรรม
ทั้งหมดหลอมรวมให้ตำบลออนใต้เป็นชุมชนนิเวศต้นแบบให้อีก 24 อำเภอได้เดินตามรอย เพื่อพัฒนาเชียงใหม่ก้าวสู่ชุมชนนิเวศ (Eco Village) อย่างยั่งยืน