Travel & Route
สิงคโปร์....เมืองกระชับ ที่น่าอยู่

เรื่อง/ภาพ    ชาจีน

 

การวางรูปแบบเมืองของประเทศสิงคโปร์ มีความน่าสนใจเป็นอย่างมากในมุมมองของฉัน โดยเฉพาะระบบคมนาคมที่มีโครงข่ายการเดินทางเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐานสูง สะท้อนถึงความเป็นเมืองยั่งยืนและน่าอยู่

การนั่งรถขนส่งสาธารณะ ทั้งรถไฟใต้ดิน (MRT) รถเมล์ การเดิน การปั่นจักรยาน เป็นเรื่องปกติของคนที่นี่ เป็น 4 รูปแบบการเดินทางที่สะดวกสบายสำหรับนักท่องเที่ยวอย่างฉันที่มาเยือนสิงคโปร์เป็นครั้งแรก

ฉันนั่งรถไฟใต้ดินจากโรงแรมที่พักย่านออร์ชาร์ดมาลงที่ไชน่าทาวน์ เดินผ่านสัมผัสแง่งามวิถีชีวิตความเป็นจีน ที่แทรกซึมอยู่ในสิงคโปร์อย่างกลมกลืน รู้ตัวอีกทีก็เดินมาถึง The URA Centre  (Urban Redevelopment Authority) องค์กรพัฒนาเมืองสิงคโปร์ ที่มีบทบาทดูแลแผนด้านการพัฒนากายภาพเมืองทั้งหมด เป็นหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงการพัฒนาแห่งชาติ (Ministry of National Development) (MND) และภายใน URA แห่งนี้ ยังเป็นที่ตั้งของ Singapore CITY Gallery ที่เปิดให้บุคคลภายนอกทั่วไปและนักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาศึกษาเรียนรู้ด้านการพัฒนาเมืองได้แบบเจาะลึก

รัฐบาลสิงคโปร์ออกประกาศนโยบายควบคุมจำนวนรถยนต์ ซึ่งตั้งเป้าไว้ตั้งแต่ปี 2018 จำนวนรถยนต์และรถจักรยานยนต์จะต้องมีอัตราการเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 0% หรือเข้าใจง่ายๆก็คือ จะต้องไม่มีรถยนต์และจักรยานยนต์ส่วนบุคคลคันใหม่จดทะเบียนเพิ่มขึ้น โดยรัฐบาลส่งเสริมและผลักดันให้ประชากรใช้ขนส่งสาธารณะเป็นการเดินทางหลักแทนการใช้ยานพาหนะส่วนบุคคล

โมเดลการวางผังกายภาพเมืองของสิงคโปร์ที่จำลองเสมือนจริง เป็นการวางแผนเพื่อความยั่งยืน (Planning for Sustainability) มีกระบวนการพัฒนาเมือง 4 ด้านที่ขับเคลื่อนไปพร้อมๆกันคือ ด้านเศรษฐกิจ (Economic) มุ่งรักษาเศรษฐกิจให้มีความแข็งแกร่ง ด้านสังคม (Social) ให้คุณภาพชีวิตที่ดีและความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในเมือง ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) เน้นการพัฒนาที่มุ่งรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ด้านการใช้ที่ดินและพื้นที่ทางทะเล (Land and Sea) เน้นเพิ่มประสิทธิภาพที่ดินและพื้นที่ทางทะเลที่มีอยู่อย่างจำกัด

ภายใต้พื้นที่เมืองที่มีจำกัด สิงคโปร์จึงมุ่งสู่ความเป็นเมืองกระชับ (Compact City) เมืองที่มีคุณภาพชีวิต (Quality Living) เมืองต้องเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับทุกคน (Housing for All) การโตขึ้นของเมืองจะเป็นการเติบโตแบบยั่งยืน (Sustaining Growth)  โดยกระจายอำนาจ (Decentralisation) พื้นที่ทางเศรษฐกิจในแต่ละย่าน เพื่อไม่ให้เกิดการกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง

การพัฒนาเมืองอีกด้านสำคัญของสิงคโปร์ก็คือ การมุ่งให้ผู้คนในเมืองเดินทางด้วยรถขนส่งสาธารณะ (Going Public) ด้วยเพราะขนส่งสาธารณะเป็นระบบการเดินทางที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเมื่อเทียบกับรถยนต์ส่วนบุคคล

โดยโครงข่ายการให้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินและรถบัส (รถเมล์) ได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อทำให้ระบบขนส่งสาธารณะมีความสะดวกในการเดินทางยิ่งขึ้น เสริมมาตรการเข้มข้นในการควบคุมการเป็นเจ้าของรถและการใช้รถส่วนบุคคลในการเดินทาง ซึ่งในปี 2020 โครงข่ายเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดินได้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า มีระยะทางถึง 278 กิโลเมตร ด้วยการเพิ่มเส้นทางใหม่ ได้แก่ Thomson Line, Eastern Region Line, Tuas Extension and North - South Line Extension

ฉันเดินออกจาก The URA - Singapore City Gallery พร้อมกับความรู้ในแง่มุมการพัฒนาเมืองที่มีประสิทธิภาพของประเทศบนเกาะเล็กๆ....เมืองกระชับที่น่าอยู่ สำหรับทุกๆชีวิตในเมือง

banner ด้านขวา 1
banner ด้านขวา 2
Peenfa Creation