Travel & Route
“ลับแล” Role Model “เมืองจักรยาน”

เรื่อง   ชาจีน

 

ในระยะ 10 ปี คำว่า “เมืองจักรยาน” ได้รับการกล่าวถึง รณรงค์-ส่งเสริมให้ประเทศไทยมุ่งสู่การเป็น “เมืองจักรยาน” อย่างกว้างขวาง และถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นนโยบายการพัฒนาเมืองของหลายจังหวัด แต่จนถึงวันนี้แทบไม่เห็นการพัฒนาของเมืองใดที่เป็นรูปธรรมมากนัก พร้อมๆกับกระแส “เมืองจักรยาน” ที่เริ่มเบาและแผ่วลงไปมากในห้วงหลายปีที่ผ่านมา

ณ มุมหนึ่งของประเทศไทย ยังมีเมืองเล็กๆเมืองหนึ่ง ที่ยังดำรงคำว่า “เมืองจักรยาน” และยึดโยงในเชิงนโยบายไว้อย่างเหนียวแน่น “ลับแล” คือ เมืองๆนั้น ที่นิยามตัวเองอย่างหนักแน่นว่า “ลับแล” คือ “เมืองแห่งจักรยาน”

อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ อาจเป็นอำเภอที่ห่างไกลจากความคิดของใครหลายๆคน ที่จะเยื้องย่างเดินทางเข้าไปย่ำเยือน ทั้งๆที่ระยะทางอยู่ห่างจากตัวเมืองอุตรดิตถ์เพียง 6 กิโลเมตรเท่านั้น นอกจากเป็นแหล่งผลิตผลไม้เลื่องชื่อ ทั้งทุเรียน ลางสาด สับปะรดห้วยมุ่น ฯลฯ โดยผลไม้ที่สร้างชื่อเสียงมากที่สุดคือ ทุเรียนพันธุ์หลงลับแล และหลินลับแล ซึ่งมีแหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่อำเภอลับแลและอำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์

อีกด้านหนึ่งของเมืองเล็กๆแห่งนี้ยังมีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและมีเสน่ห์ด้วยจักรยานที่ชาวบ้านปั่นกันในชีวิตประจำวัน และได้รับการสนับสนุนสู่การเป็นเมืองจักรยานมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะ 10 ปีที่ผ่านมา หลายสิ่งหลายอย่างในความเป็นเมืองลับแลจึงสามารถถูกยกขึ้นชั้นเป็นเมืองน่าอยู่ และเป็นเมืองท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งอย่างมิอาจมองข้าม 

ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้บริหารเทศบาลตำบลศรีพนมมาศ อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ “นายเจษฎา ศรุติสุต นายกเทศมนตรีฯ ที่ให้ความสำคัญเรื่องเมืองนิเวศและเมืองคาร์บอนต่ำ ที่ต้องการให้เมืองลับแลเป็นเมืองสีเขียวและให้ประชาชนในพื้นที่หันมาใช้จักรยานในการเดินทางสัญจรในชีวิตประจำวัน เพื่อลดการใช้รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ซึ่งจะช่วยลดมลภาวะเมือง ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ชูเป็นยุทธศาสตร์หลักในการบริหารเมือง จึงนำมาสู่นโยบายส่งเสริมการพัฒนาเมืองจักรยานจนถึงปัจจุบัน

โดยมุ่งเน้นส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง จนได้รับรางวัล “เที่ยวชุมชน ยลวิถี เมืองลับแล” จากกระทรวงวัฒนธรรม เมื่อปี 2565 ชูไฮไลท์การท่องเที่ยวชุมชนเป็นสำคัญ ด้วยการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย จักรยาน และให้บริการจักรยานแก่นักเที่ยวที่ต้องการสัมผัสวิถีชีวิตของชุมชนเมืองลับแลอย่างใกล้ชิด ณ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว พิพิธภัณฑ์เมืองลับแล ตั้งแต่เวลา 08.30-19.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

สำหรับแผนการพัฒนาเส้นทางจักรยานของเทศบาลตำบลศรีพนมมาศ จะดำเนินการเพื่อรองรับการท่องเที่ยวด้วยจักรยาน ซึ่งปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวที่เมืองลับแลเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน ได้พัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวด้วยจักรยานรอบเขตเทศบาลฯ อาทิ เส้นทางชมวิถีชีวิตชุมชน ถนนสายอาหาร ถนนชมธรรมชาติ-วิถีเกษตร เป็นต้น 

ก้าวต่อไปของเทศบาลตำบลศรีพนมมาศ ยังคงรณรงค์ส่งเสริมให้ความรู้เรื่องจักรยานกับประชาชนในทุกชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนทุกภาคส่วนหันมาใช้จักรยานในชีวิตประจำวันให้เกิดความเคยชิน และส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนด้วยจักรยาน

เมืองขนาดเล็ก เมืองกระชับหลายๆเมือง ควรมุ่งจัดการโครงสร้างพื้นฐานของเมืองที่เอื้อต่อการสัญจรหลากหลายทางเลือก โดยเฉพาะการพัฒนาสภาพเมืองเพื่อการปั่น ที่จะเป็นกลยุทธ์สำคัญในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า เหมือนเช่น “เมืองลับแล” ที่เป็น Role Model “เมืองจักรยาน” ที่เป็นรูปธรรมและชัดเจนที่สุดได้อย่างทุกวันนี้

 

(ขอบคุณภาพจาก งานประชาสัมพันธ์เทศบาลตำบลศรีพนมมาศ)

 

 

banner ด้านขวา 1
banner ด้านขวา 2
Peenfa Creation