เรื่อง/ภาพ Sutida
สายๆในวันที่แดดจ้าฟ้าใส สิงคโปร์ที่ฉันมาเยือนเป็นครั้งแรก ดูช่างเป็นเมืองที่มีชีวิตชีวา ซึ่งในความมีชีวิตชีวาที่ฉันเห็นนั้น ไม่ใช่ความคึกคักของผู้คนที่คลาคล่ำหรือความเจริญเติบโตของเมืองที่ล้ำสมัย แต่คือชีวิตชีวาในความเป็นอยู่ของเมืองที่มีประสิทธิภาพ (Efficiency City) ที่วางโครงข่ายการเดินทางประหยัดพลังงาน มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่ำ ด้วย 4 รูปแบบการเคลื่อนที่เชื่อมโยงด้วยรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) + รถเมล์ + การเดิน + จักรยาน ที่เป็นหัวใจแห่งการเดินทางของพลเมือง
ทริปพักร้อนของฉันที่ตั้งใจมาอยู่สิงคโปร์ 5 วันเต็ม เป็นการท่องเที่ยวเองแบบชิลๆ และหนึ่งในความชิลที่ฉันแพลนไว้ก็คือ การปั่นจักรยานในเมืองสิงคโปร์
แม้บรรยากาศทั่วไปของเมืองที่ผู้คนไม่ได้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันเป็นหลัก แต่การออกแบบผังเมืองและโครงสร้างพื้นฐานของเมือง (Infrastructure) ได้ถูกวาดวางไว้อย่างเป็นระบบ สวยงาม และมีมาตรฐานความปลอดภัยสูงเพื่อรองรับการปั่นจักรยาน ด้วยเพราะกว่า 80% ของประชากรเน้นการสัญจรด้วยรถไฟฟ้าใต้ดิน (Metropolitan Rapid Transit : MRT) ซึ่งจักรยานจะเป็นหนึ่งทางเลือกในการเดินทางเชื่อมโยงจากสถานีรถไฟฟ้าไปอีกจุดหมายปลายทางหนึ่งในระยะที่ไม่ไกลนัก
ฉันเดินออกจากโรงแรม Ascott Orchard Singapore โรงแรมที่ฉันพักตลอดทริป 5 วันนี้ ซึ่งตั้งอยู่ย่านถนนออร์ชาร์ด (Orchard Road) ศูนย์กลางเศรษฐกิจและศูนย์กลางห้างสรรพสินค้าชั้นนำ เดินเลาะเลียบทางเดินเท้า (Walkway) ที่มีร่มเงาต้นไม้บังแดดให้เป็นระยะ
สีเขียวที่ปะทะสายตา ทำให้ฉันเดินได้อย่างเพลินใจ เพียง 2 นาทีจากโรงแรมก็เดินมาถึงหน้าห้างฯ Robinsons รอข้ามถนนไปอีกฝั่ง ณ จุดทางข้ามไฟเขียว-ไฟแดง เพื่อข้ามไปห้างฯ 313@Somerset ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน Somerset สายเหนือ-ใต้ (North – South)
นั่งผ่านสถานี Dhoby Ghaut เพียงสถานีเดียว มาลงที่สถานี City Hall ซึ่งเป็นจุดที่สามารถลงและปั่นจักรยานต่อไปในเขตเมืองสิงคโปร์ได้อย่างสะดวก Route นี้ ฉันจะเจออะไรบ้างนะ?
ฉันใช้บริการจักรยาน Ofo จักรยานสาธารณะเช่า ที่จอดให้บริการอยู่ทุกสถานีรถไฟฟ้าและย่านสำคัญๆทั่วเมือง หลังจากเดินออกจากสถานี City Hall ฉันปั่นจักรยานไปบนทางเท้า-ทางจักรยานที่ใช้ร่วมกัน มาจอด ณ จุดข้ามไฟเขียว-ไฟแดงบริเวณหัวถนน Stamford (Stamford Road) รอข้ามไปอีกฝั่ง
ปั่นผ่านโบสถ์สีขาวภายในรั้วที่มีต้นไม้ร่มเขียว “โบสถ์เซนต์แอนดรู” (St Andrew’s Cathedral) ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน City Hall เพียงแค่ข้ามถนนมาเท่านั้น ก็จะได้เห็นความงดงามของโบสถ์สไตล์ English Gothic ที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดของประเทศสิงคโปร์ สถาปัตยกรรมที่สะดุดตา ทำให้ฉันต้องจอดจักรยานเพื่อหยุดมอง เดินละเลียดชมและถ่ายภาพมุมสวยๆ จากนั้นปั่นต่อไปบนทางเท้าที่กว้าง สะอาดและเรียบโล่ง ผ่าน National Gallery Singapore อาคารสถาปัตยกรรมที่อลังการ โดดเด่น งดงาม
ใกล้ๆเยื้องๆกัน มีอนุสาวรีย์ช้างสำริด อยู่ด้านหน้าอาคาร The Art House สถานที่แห่งนี้ถือว่ามีความสำคัญระหว่างความสัมพันธ์ของไทยกับสิงคโปร์ เนื่องจากเป็นอนุสาวรีย์ช้างสำริดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานให้เป็นของขวัญกับรัฐบาลสิงคโปร์ สมัยครั้งที่ทรงใช้เรือชื่อ "พิทยัมรณยุทธ" เป็นพระที่นั่งของพระองค์ในการเสด็จประพาสสิงคโปร์ ในการเสด็จต่างประเทศครั้งแรก
จากนั้นปั่นย้อนเส้นทางเดิมผ่านด้านหน้า National Gallery Singapore อีกครั้ง เลี้ยวซ้ายไปตามถนน Coleman St ลัดเลาะไปบนทางจักรยานและทางเดินเท้า สวนทางกับผู้คนที่เดินผ่านไปมา การเดินกับจักรยานคือสองสิ่งที่อยู่ร่วมกันตลอดเส้นทาง ฉันปั่นมาจนสุดถนน รอข้ามไปอีกฝั่งบริเวณจุดทางข้าม ซึ่งการข้ามถนนในสิงคโปร์ค่อนข้างปลอดภัย หากข้ามในจุดทางข้ามไฟเขียว-ไฟแดงที่มีอยู่ทั่วทุกทิศทาง และคนที่นี่จะรักษาวินัยการจราจรในการใช้รถใช้ถนนอย่างเคร่งครัด ทำให้การปั่นจักรยานในต่างประเทศครั้งแรกของฉัน ปั่นได้อย่างสบายๆ
ข้ามฝั่งมาที่ถนน North Bridge ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของรัฐสภาสิงคโปร์ (Parliament Singapore) ตัวอาคารรัฐสภาเรียบๆแต่มีสไตล์ สนามหญ้าเขียวขจีตัดกับอาคารสีขาวหม่น ทำให้สถานที่ดูโดดเด่นขึ้นมาทันที สถานที่สำคัญของประเทศแต่กลับเป็นพื้นที่เปิดโล่ง ไม่มีรั้วแน่นหนาเป็นแนวกั้นเขต บ่งบอกว่าเมืองมีความปลอดภัยสูง ทางเดินทางปั่นด้านหน้ารัฐสภากว้างและสะอาดตา มีแนวต้นไม้เป็นรั้วธรรมชาติ ฉันเลยปั่นได้ชิลมากๆ
เลี้ยวซ้ายเข้าด้านข้างรัฐสภาเพื่อทะลุไปยังแม่น้ำสิงคโปร์ (Singapore River) ปั่นเลาะแม่น้ำไปเรื่อยๆ มีกลุ่มตึกสูงเป็นฉากหลังตลอดแนวแม่น้ำที่สงบนิ่ง เป็นอีกหนึ่งวิวสวยที่ต้องแวะถ่ายรูปแบบรัวๆ เส้นทางนี้จะเดินเล่นชมวิวแม่น้ำก็ฟินไม่เบาเลย เป้าหมายจากจุดนี้คือ เมอร์ไลออน (Merlion) แวะไปเช็คอินบ้างอะไรบ้าง เพื่อยืนยันว่ามาถึงสิงคโปร์แล้วนะ
ระหว่างเส้นทาง ฉันปั่นผ่านอาคารงดงาม 2 แห่งคือ Asean Civilisations Museum และ อุทยาน Empress Lawn ก่อนที่จะลอดอุโมงค์ทางเดินและจักรยานทะลุไปที่เส้นทาง Queen Elizabeth แล้วลอดใต้สะพานมุ่งไปยังโรงละครเอสพลานาด (Esplanade Theatres) หรืออาคารหนามทุเรียนที่คนไทยเรียกกัน เป็นสถาปัตยกรรมโรงละครที่สวยและแปลกตา คล้ายๆหนามทุเรียน เลี้ยวขวาข้ามสะพาน Esplanade ไปยังเมอร์ไลออนได้ ถ่ายรูปชมเมอร์ไลออนเสร็จ เดินทางปั่นต่อ ฝ่าคลื่นมหาชนจากนานาชาติที่ต้องมาเช็คอิน-ถ่ายรูปตามโปรแกรมทัวร์
ฉันวางเส้นทางการปั่นรอบอ่าวมารีน่า วนขวา เรียบอ่าวไปเรื่อยๆ เพื่อจะไปบรรจบกับตึก Marina Bay Sand และสะพาน Helix จากจุดนี้ปั่นตรงไปยังเขื่อนมารีนา หรือ Marina Barrage ซึ่งเป็นเส้นทางวงรอบพื้นที่ Garden by the Bay ถือเป็นเส้นทางปั่นที่สะดวก เป็นทางจักรยานสีเขียวที่มีต้นไม้ให้ร่มเงาบังแสงแดดตลอดเส้นทาง ได้ฟีลการปั่นที่สดชื่นสุดๆ แม้จะผ่านทางแยกก็มีสัญญาณไฟทางข้ามที่ปลอดภัย
ปั่นมาถึง Marina Barrage ที่เป็นเขื่อนกั้นน้ำทะเล เป็นอ่างเก็บน้ำลำดับที่ 15 ของประเทศ สร้างขึ้นบนปากแม่น้ำของร่องน้ำมารีน่า (Marina Channel) และจัดสรรน้ำตามความต้องการของประเทศได้ราว 10 เปอร์เซ็นต์ เขื่อน Marina Barrage เป็นกลไกสำคัญในการช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมบางพื้นที่ของเกาะที่อยู่ในระดับต่ำ และในช่วงที่ฝนตกหนัก จะมีการเปิดประตูเขื่อนจำนวน 9 บาน เพื่อปล่อยน้ำออกสู่ทะเลเมื่อกระแสน้ำอยู่ในระดับต่ำ เมื่อกระแสน้ำอยู่ในระดับสูงปั๊มขนาดใหญ่หลายตัวจะทำงานรวดเร็ว เพื่อระบายน้ำออกสู่ทะเล
ปั่นจักรยานข้ามไปอีกฝั่งหนึ่ง เป็นฝั่งตะวันออกของ Garden by the bay ซึ่งเป็นเส้นทางปั่นและวิ่งที่สวยงาม เป็นเส้นทางที่ต่อเนื่อง สามารถชมสวนสีเขียวและถ่ายภาพย้อนกลับไปยัง Marina Bay Sand ได้อย่างสวยงามยามพระอาทิตย์ตกดิน
หลังจากสำรวจเส้นทางในฝั่งตะวันออกแล้ว ฉันย้อนกลับมาในเส้นทางเดิมคือปั่นข้ามเขื่อน Marina Barrage เพื่อเรียบริมน้ำไปยัง Marina bay sand ที่เชื่อมสะพาน Helix แวะเติมพลังรับประทานอาหารเย็นในห้างฯ Marina bay sand
ขากลับฉันจอดรถไว้ที่ Marina Bay แล้วเดินไปยังสถานีรถไฟฟ้า Marina Bay เพื่อกลับไปยังสถานีรถไฟฟ้า Somerset ใจกลางออชาร์ดได้อย่างสะดวก
ระยะทางปั่น Route นี้ ราว 20 กิโลเมตร มีจักรยานคันเล็กๆพาฉันเคลื่อนที่ไปบนโครงข่ายเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างบล๊อคต่อบล๊อคของเมืองอย่างเป็นระบบ
ไม่ผิดหรอก! ที่จะบอกว่า สิงคโปร์คือ Bicycle-friendly City เมืองที่เป็นมิตรกับจักรยาน