เรื่อง/ภาพ ชาจีน
“ดงกลาง” ชื่อของชุมชนหนึ่งที่อาจไม่เป็นที่รู้จัก ไม่คุ้นหู ไม่ใช่หมุดหมายการท่องเที่ยวของใครต่อใคร
แต่เมื่อฉันรู้ว่า “ดงกลาง” มี “จักรยาน” เป็นวิถีชีวิต หัวใจและความตั้งใจจึงต้องมุ่งมาค้นหาความเป็น “เมืองจักรยาน” ของชุมชนแห่งนี้
พิกัดระบุว่า “ดงกลาง” อยู่เขตอำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร ระยะทางห่างจากตัวเมืองราว 15 กิโลเมตร ออกสตาร์ทจากนครสวรรค์ใช้เวลาเดินทางราวชั่วโมงครึ่งก็ถึงที่หมาย
นอกจากการมีวิถีชีวิตเรียบง่ายด้วย “จักรยาน” ที่ชาวบ้านใช้กันในชีวิตประจำวันแล้ว “ดงกลาง” ยังเป็นพื้นที่ทางการเกษตรอันอุดมสมบูรณ์แหล่งใหญ่ของจังหวัดพิจิตร และถูกยกให้เป็นพื้นที่ “ธนาคารอาหาร” พืชผลทางการเกษตรหลายชนิด ทั้งผักและผลไม้ มีต้นทางการผลิตอยู่ที่นี่และถูกส่งขายไปทั่วประเทศ
“วิถีจักรยาน” และ “วิถีเกษตร” เป็นสองสิ่งสำคัญและผูกโยงกัน ที่ทำให้ชุมชนขนาดกะทัดรัดแห่งนี้เป็นเมืองน่าอยู่ มีเสน่ห์น่าค้นหา และเป็นเมืองจักรยานที่มิอาจมองข้าม
วงสนทนาเล็กๆภายในวัดดงกลาง ทำให้ฉันได้รู้เรื่องราว “จักรยาน” ของชุมชนแห่งนี้มากยิ่งขึ้น
พระนักพัฒนาจักรยาน
พระครูวิจารณ์ธรรมโสภิต เจ้าอาวาสวัดดงกลาง เล่าให้ฟังว่า จักรยานมีเป็นทุนเดิมอยู่แล้วในชุมชนดงกลาง เป็นวิถีที่ชาวบ้านใช้เป็นพาหนะในการเดินทางไปไร่ ไปสวน ไปนา ไปทำการเกษตรเป็นปกติในละแวกใกล้บ้านระยะทาง 3-5 กิโลเมตร ต่อมาเมื่อปี 2554 ได้เริ่มมีการรณรงค์การใช้จักรยานในชุมชนดงกลางอย่างจริงจัง โดยหลายหน่วยงานทั้งองค์การบริหารส่วนตำบลดงกลาง ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย และวัดดงกลาง ได้ร่วมกันขับเคลื่อน สำรวจฐานข้อมูลการใช้จักรยานในชุมชน ปรับปรุงระบบเส้นทางจักรยาน และส่งเสริมให้มีการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน กระทั่งปัจจุบันมีการจัดตั้ง “ชมรมจักรยานชุมชนดงกลาง” ขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
เก๋ๆ ป้ายทะเบียน “จย.ดงกลาง”
ชมรมจักรยานชุมชนดงกลาง มีชาวบ้านจาก 5 หมู่บ้านเข้าร่วมเป็นสมาชิกราว 250 คน จำนวนจักรยานเท่ากับจำนวนสมาชิกคือ 250 คัน ซึ่งฐานสมาชิกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจึงมีการทำป้ายทะเบียนจักรยาน เพื่อสร้างระบบทะเบียนสมาชิกให้เป็นมาตรฐาน และส่งเสริมให้เกิดการใช้จักรยานอย่างอย่างเป็นรูปธรรม อัตราค่าสมาชิกปีละ 100 บาท ซึ่งเงินที่เก็บจากสมาชิกทั้งหมดได้จัดตั้งเป็นกองทุนของชมรมฯ เพื่อนำเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายบำรุงรักษา ซ่อมรถจักรยานของสมาชิก โดยมีจุดซ่อม-บำรุงรักษาอยู่ภายในวัดดงกลาง
พระครูวิจารณ์ธรรมโสภิต กล่าวว่า กิจกรรมส่งเสริมการใช้จักรยานมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมในการสร้างการมีส่วนร่วมของสมาชิกชมรมฯ อาทิ การปั่นจักรยานไปฝังลูกนิมิตที่วัดข้างเคียง ปั่นจักรยานแห่เทียน-ถวายเทียนพรรษา หรือกิจกรรมที่ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ โดยทุกๆกิจกรรมจะใช้จักรยานเป็นสื่อกลางที่สมาชิกจะนำจักรยานปั่นกันไปเป็นขบวน
“วิถีจักรยานของคนที่นี่เป็นธรรมชาติ จักรยานที่ชาวบ้านใช้ก็เป็นจักรยานที่ใช้กันในชีวิตประจำวัน เราไม่ได้ตั้งเป้าหมาย ไม่ได้คาดหวังว่าจำนวนปั่นจะเพิ่มขึ้นมากเท่าไหร่ อยากให้เป็นน้ำซึมบ่อทราย สมาชิกจักรยานที่เพิ่มขึ้นเป็นแบบปากต่อปาก จักรยานช่วยรักษาทรัพย์คือ ประหยัด ได้สุขภาพที่ดี และชุมชนมีความน่าอยู่” ท่านพระครูวิจารณ์ กล่าวไว้เช่นนั้น
ปรีชา โพธิ์แก้ว นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดงกลาง บอกว่า กลยุทธ์สำคัญของการพัฒนาชุมชนจักรยานของดงกลางก็คือ การนำจักรยานเป็นเครื่องมือสำคัญในการร่วมกิจกรรมต่างๆของชุมชน ซึ่งปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่องหลายปี และชาวบ้านก็ตื่นตัวกันมาก กล่าวได้ว่าดงกลางเป็นชุมชนจักรยานที่เข้มแข็ง เริ่มเป็นแบบอย่างให้ชุมชนข้างเคียงมาศึกษาดูงานจักรยานมากขึ้นเรื่อยๆ
โดยสภาพพื้นที่ของตำบลดงกลางถือเป็นชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง ชาวบ้านสัดส่วน 80-90% มีอาชีพหลักคือ ทำการเกษตร และดงกลางเป็นพื้นที่เพาะปลูกผัก-ผลไม้แหล่งใหญ่ หลายหมู่บ้านทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งแผนงานในอนาคตของ อบต.ดงกลางจะส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ทั้งตำบล พร้อมเตรียมเสนอของบสนับสนุนจากกรมพลศึกษาเพื่อจัดทำเส้นทางท่องเที่ยววิถีเกษตรด้วยจักรยาน
เชิด โพธิ์หลาย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 บอกว่า หมู่ 3 เป็นหมู่บ้านแรกของดงกลางที่มีการส่งเสริมการใช้จักรยาน ปัจจุบันมีจักรยานของชาวบ้านหมู่ 3 ที่จดทะเบียนเป็นสมาชิกรมจักรยานชุมชนดงกลางและมีจักรยานที่มีป้ายทะเบียนติดจำนวนกว่า 50 คัน โดยการส่งเสริมการใช้จักรยานได้ขยายออกไป 5 – 6 หมู่บ้านแล้ว
นเรศ หนูอุ่ม ผู้อำนวยการ กองสวัสดิการสังคม องค์การบริหารส่วนตำบลดงกลาง กล่าวว่า ตำบลดงกลางมีหมู่บ้านทั้งหมด 9 หมู่ มีประชากรกว่า 4,000 คน จากการสำรวจฐานข้อมูลจำนวนจักรยานของตำบลดงกลางล่าสุด พบว่ามีชาวบ้านที่ใช้จักรยานอยู่ภายในชุมชนมากกว่า 1,000 คัน โดยส่วนใหญ่เป็นการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ซึ่งกล่าวได้ว่าบริบทของพื้นที่ดงกลางมีจักรยานเป็นวิถีชีวิตเชื่อมโยงกับวิถีเกษตร เป็นการดำเนินวิถีแบบเศรษฐกิจพอเพียง
ปั่นลัดเลาะคลองข้าวตอก/ดงสวนชะอม-แตงลอยฟ้า
ความน่าสนใจของตำบลดงกลางที่มิอาจมองข้ามไปได้ก็คือ การเป็นพื้นที่ทางการเกษตรที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุด จัดว่าเป็นศูนย์กลางของผลผลิตหลายชนิดทั้งผักและผลไม้ที่ส่งไปขายยังตลาดไท ซึ่งเฉพาะพื้นที่ปลูกผักสวนครัวรวมทั้งตำบลมีมากถึง 1,500 ไร่ มีคลองข้าวตอกซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติระยะทางราว 10 กิโลเมตรไหลผ่านทั้ง 9 หมู่บ้าน เป็นเส้นเลือดหลักที่ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรของชุมชนที่ส่วนใหญ่ปลูกตามแนวริมคลองสายนี้เติบโตงอกงาม
ใครจะรู้ว่า ที่นี่เป็นพื้นที่ปลูกชะอมแหล่งใหญ่ เกือบทุกหลังคาเรือนปลูกชะอม แต่ละหมู่บ้านจะมีท่ารับซื้อผลผลิตทางการเกษตร ชะอมที่ชาวบ้านนำมาขายที่ท่ารับซื้อนั้นแสนถูก กำละ 2 บาทเท่านั้น
นอกจากชะอมแล้ว ที่นี่ยังมีสวนกล้วยน้ำว้า กล้วยหอม มะละกอฮอลแลนด์ มะม่วง มะยงชิด ส้มโอ แก้วมังกร ฟักทอง ถั่วฝักยาว ข้าวโพด เพกา ฯลฯ และแตงกวาลอยฟ้า ซึ่งเป็นสวนแตงกวาอินทรีย์ของเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดปลูกแตงกวาไร้ดิน เก็บผลผลิตขายได้วันละ 1,000 บาท
ฉันปั่นจักรยานลัดเลาะเลียบไปตามเส้นทางคลองข้าวตอก เส้นทางที่ชาวบ้านดงกลางปั่นจักรยานสัญจรไปทำสวน ทำไร่ ทำนา เก็บผลผลิตไปขายในแต่ละวัน มีรายได้หล่อเลี้ยงทุกๆชีวิตทุกวันบนพื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียง
“วิถีจักรยาน” ของชาวดงกลาง เรื่อยๆ ไม่รีบเร่ง เป็นชีวิตช้าๆที่มีเสน่ห์ ทำให้ชุมชนเล็กๆแห่งนี้เป็นเมืองจักรยานที่มีความน่าอยู่ และมีความสุขแบบพอเพียง