เรื่อง/ภาพ อ.ธนกฤต มีสมจิตร
มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร
ผมได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงานที่เมือง “โคจิ” ซึ่งเป็นเมืองขนาดกลาง ทางภาคใต้ของประเทศญี่ปุ่น อุณหภูมิที่นี่ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับเมืองอื่นในแถบศูนย์สูตร มีภูมิประเทศตั้งอยู่บนพื้นที่ราบโอบล้อมด้วยภูเขาสูงและชายฝั่งที่มีทรัพยากรทางทะเลอุดมสมบูรณ์ เป็นเมืองที่มีความหนาแน่นประชากรต่ำ ด้วยย่านพักอาศัยแนวราบรอบเมือง มีย่านพาณิชยกรรมที่เป็นดงตึกสูงใจกลางเมือง มีการคมนาคมขนส่งที่สะดวกคล่องตัว เพราะเน้นระบบการขนส่งมวลชนรวม ทั้งรถราง-Tram รถไฟ และรถเมล์
วิถีพลเมืองเป็นแบบชาวภูธรที่ไม่มุ่งความฟุ้งเฟ้อศิวิไลซ์เหมือนเมืองใหญ่เช่น เกียวโต โตเกียว และโอซากาวิถีผู้คนเมืองนี้ใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย สมถะ และมีฐานอาชีพที่พึ่งพาระบบนิเวศของพื้นที่เกษตร และทรัพยากรทางทะเล ผสมกับย่านโรงงานอุตสาหกรรมเพียงเล็กน้อย จึงเป็นเมืองพักอาศัย และเมืองศูนย์ราชการ ที่น่าอยู่ น่าเที่ยวแบบพอเพียง
ระบบผังเมืองถูกออกแบบให้เป็นเมืองแบบกระชับ (Compact City) ขณะที่การวางผังละแวกย่านถูกวางด้วยแนวคิดการอยู่ในระยะเดินถึงและปั่นถึง (Walking Distance/Cycling City) ด้วยการสัญจรแบบยั่งยืน (Sustainable Mobility) ด้วยการสัญจรแบบใช้แรงกายช่วย (Active Mode) และการเป็นเมืองสีเขียว (Green City) และเมืองลดโลกร้อน
ความน่าสนใจของโคจิอีกด้านหนึ่งก็คือ องค์ประกอบเมืองด้านนิเวศเมืองยั่งยืน (Natural Component) ที่ไม่มีการบุกรุก ทำลายโครงข่ายน้ำของเมือง การไม่รุกล้ำพื้นที่สาธารณะในเมืองเช่น ฟุตบาท ผิวจราจร และพื้นที่รกร้างว่างเปล่า การฟื้นฟูชุมชนบนเขาสูงจากเคยเป็นพื้นที่เขาเสื่อมโทรมจากอุตสาหกรรมค้าไม้ซุง มาฟื้นฟูเป็นชุมชนเกษตรยั่งยืนที่อนุรักษ์ต้นน้ำลำธาร และใช้วิถีเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรปลอดสารพิษ การปลูกผัก ผลไม้กินเองแบบ “การเกษตรในเมือง” (Urban Farm) การที่ชุมชนต่อต้านการวางแผนขยายถนนคร่อมคลองของภาครัฐ เพื่อเก็บรักษาโครงข่ายนิเวศเมือง เป็นต้น
แนวทางการดำเนินชีวิตของพลเมือง (Way of Life Heritage) เช่น การจัดการการท่องเที่ยวด้วยถนนคนเดิน การไม่ขยายถนนที่แคบเล็กในชุมชนเพื่อลดการไล่รื้อหรือทุบทำลายอาคารเก่า แต่ใช้การจัดระบบจราจรแบบวันเวย์ การป้องกันอุบัติเหตุจราจรและส่งเสริมการสัญจรที่รักษ์โลกด้วยการออกแบบพัฒนาโครงข่ายทางเดิน-ทางปั่นจักรยานเพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล และตอบสนองต่อวัฒนธรรมความปลอดภัย (Safety Culture) ส่วนการจัดการ วางแผน และสร้างมาตรการรองรับพิบัติภัย เช่น การควบคุมความเร็วยานยนต์ในเขตเมืองไม่ให้เกิน 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพื่อลดและป้องกันอุบัติเหตุ
การพัฒนาเมืองสมัยใหม่ มิใช่การมีแต่สิ่งปลูกสร้างสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง และเกิดสิ่งคงทนถาวรเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยการวางแผน ออกแบบ และส่งเสริมพัฒนา “องค์ประกอบเมือง” ทั้ง 3 ด้านหลัก (ธรรมชาติ สิ่งที่มนุษย์สร้าง และวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรมอันดีงามของชาวเมือง) ไปควบคู่กัน จึงจะเกิดการพัฒนาเมืองเป็น “องค์รวม” ได้ประโยชน์รอบด้าน และทำให้ “องค์ประกอบเมือง” ทุกด้านนี้ มีการพัฒนาก้าวหน้าไปในระดับที่ “คู่ขนาน หรือ สมดุลกัน” เนื่องจากมีความอิงแอบกลมกลืนร่วมกัน ประสานประโยชน์ระหว่างกัน นั่นเอง
“การพัฒนาเมืองแบบบูรณาการ” จึงสามารถดูแบบอย่างของเมืองโคจิ ในประเทศญี่ปุ่น ว่าสามารถพัฒนาไปในทิศทาง รูปแบบ และวิถีที่สร้างหลักประกันในอนาคตได้ว่า จะน่าอยู่ น่าเที่ยว มั่นคง ปลอดภัย ประหยัด มลพิษต่ำ และมีคุณภาพชีวิตร่วมกันทั้งคน พืช สัตว์ในเมืองได้อย่างสมดุลและพึ่งพากัน เท่ากับตอบสนองแนวคิด ปรัชญา และหลักการต่างๆ และในทุกมิติได้ครบถ้วน ทั้ง ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาเมืองเขียว การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ การเป็นเมืองรักษ์โลก การเป็นเมืองลดโลกร้อน การเป็นเมืองแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะมีการวางแผน ออกแบบ และส่งเสริมพัฒนาในทุกมิตินั่นเอง
ทั้งยังมีการออกแบบเมืองเพื่อความเสมอภาค (Universal Design) การสัญจรเขียว (Green Mobility) การเป็นเมืองที่เติบโตอย่างชาญฉลาด (Smart Growth City) การเป็นเมืองน่าอยู่ (Livable City) การเป็นเมืองน่าเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for All) และวิถีแห่งการทำอยู่ทำกินที่ลดผลกระทบต่อชุมชนในภาพรวมและต่อโลก (Green Way of Life) โดยไม่ฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อ เช่น วิถีรักษ์โลก วิถีที่ลดภาวะเมืองร้อนและโลกร้อน
เป็นช่วงเวลาหลายวันที่ผมได้เก็บเกี่ยวแง่มุมและย่ำเดินไปหลายละแวกย่านในเมืองโคจิ ที่นี่ สงบ และงดงาม