การลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยและสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) เมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา เพื่อนำระบบขนส่งมวลชนแบบราง (TRAM) มาใช้เป็นระบบขนส่งมวลชนหลักของจังหวัดเชียงใหม่ นับเป็นความคืบหน้าล่าสุดที่เป็นความเคลื่อนไหวด้านการพัฒนาขนส่งมวลชนเชียงใหม่ที่น่าสนใจ ซึ่งหลายหน่วยงานทั้งส่วนกลางและองค์กรปกครองท้องถิ่นในพื้นที่ก็เริ่มจัดวาระนี้เป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนอันดับต้น ๆ จึงน่าจับตาว่าในปี 2558-2559 นี้ จะเป็นช่วงแห่งการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบบขนส่งมวลชนของเชียงใหม่ครั้งใหญ่
โดยบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) มีเจตนารมณ์ในการสร้างความร่วมมือ ส่งเสริม สนับสนุน และสร้างความสัมพันธ์เชิงพันธมิตรในการใช้ทรัพยากรระหว่างทั้งสองฝ่าย ในการพัฒนาโครงข่ายคมนาคม การขนส่ง นอกจากนี้ยังร่วมกันพิจารณาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนภายในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนได้อย่างเป็นรูปธรรม
นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ภายหลังการ MOU รฟม.จะเริ่มดำเนินการศึกษาและทำงานร่วมกับสำนักงานพัฒนาพิงคนครฯทันที กล่าวได้ว่าขณะนี้ระบบขนส่งมวลชนเชียงใหม่ถือว่าอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาโครงการ โดยจะนำแผนศึกษาวิจัยที่สำนักงานพัฒนาพิงคนครฯทำเสร็จสมบูรณ์แล้วมาต่อยอด ซึ่งระบบรางหรือ TRAM มีความเหมาะสมมากที่สุด โดยการ MOU ครั้งนี้ เป็นการศึกษารายละเอียดเชิงลึกทุกด้าน และรวมถึงการศึกษา-ออกแบบ (Detail-Design)และการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)
ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญคือรูปแบบการลงทุนว่ารูปแบบไหนที่มีความเหมาะสม เช่น เป็นการลงทุนโดยรัฐบาลกลาง หรือ รัฐบาลร่วมลงทุนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หรือให้เอกชนเข้ามาลงทุน ซึ่งหากเป็นการลงทุนโดยรัฐบาล ก็มีความเป็นไปได้ที่ รฟม.จะเป็นผู้ลงทุนและดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนเชียงใหม่
นายพีระยุทธ กล่าวว่า คณะกรรมการฯ รฟม. (บอร์ด รฟม.)ได้ให้ความสำคัญการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในภูมิภาค และมีแผนศึกษาในหัวเมืองใหญ่ อาทิ เชียงใหม่ ภูเก็ต โคราช และขอนแก่น ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองที่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ จำเป็นต้องมีระบบขนส่งและสาธารณูปโภคที่มีมาตรฐาน ซึ่งระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพสูงคือระบบราง เพราะมีความสะดวกปลอดภัย ส่วนอนาคตก็อาจจะขยายไปยังระบบที่สูงขึ้น เช่น heavy rail สามารถขยายเส้นทางไปรอบนอกได้ ซึ่งรฟม.มีความเชี่ยวชาญในระบบราง ที่จะสามารถให้คำแนะนำและเป็นพี่เลี้ยงให้กับสำนักงานพัฒนาพิงคนครฯได้ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการศึกษาราว 8-12 เดือน หลังจากนั้นจะส่งผลการศึกษาให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติเพื่อพัฒนาโครงการต่อไป
นายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้จังหวัดเชียงใหม่ได้งบประมาณเบื้องต้นแล้ว 25 ล้านบาทจากคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก คจร. เป็นงบประมาณปี 2559 และคาดว่าจะต้องใช้เพิ่มเติมอีก 50-60 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในการศึกษาและออกแบบระบบขนส่งมวลชนเชียงใหม่ในระบบ TRAM โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะเป็นหน่วยงานที่เข้ามาศึกษาและออกแบบรายละเอียด ร่วมกับ รฟม. ที่จะร่วมบริหารงบประมาณก้อนนี้
ด้านดร.ศราวุฒิ ศรีศกุน ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ระบบขนส่งมวลชนสายหลักที่เหมาะสมสำหรับเมืองเชียงใหม่คือรถไฟฟ้าแบบราง (Tram) มีความเร็วเฉลี่ย 20-25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดย 1 ตู้โดยสารสามารถจุประมาณ 150 ที่โดยสาร สามารถต่อเพิ่มตู้โดยสารและเป็นการขับเคลื่อนยานพาหนะด้วยไฟฟ้าซึ่งเป็นระบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจากผลการศึกษา โครงการนี้แบ่งออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 (5-15 ปี) ประกอบด้วยเส้นทางทั้งหมด 3 เส้นทาง มีจำนวนสถานี 53 สถานี
ทั้งนี้ สายที่ A1 เส้นทางสายเหนือ-ใต้ แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่-สายสีแดง เส้นทางสายเหนือ-ใต้ส่วนบน โดยมีสถานีเริ่มต้นจากจากศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติด้านทิศเหนือของตัวเมืองเชียงใหม่ ผ่านโรงพยาบาลนครพิงค์ ศูนย์ราชการ ลงมายังตัวเมือง วนรอบตัวเมืองตามเข็มนาฬิกาและวกกลับขึ้นไปยังสถานีต้นทาง มีระยะทางโดยรวมไป-กลับ 29.2กิโลเมตรมีจำนวนสถานี 21 สถานี จำนวนรถที่ต้องใช้ จำนวน 9คัน โดยมีความสามารถในการรับส่ง 700 คนต่อชั่วโมง
สายสีน้ำเงิน เส้นทางสายเหนือ-ใต้ส่วนล่าง โดยมีสถานีเริ่มต้นจากเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ขึ้นเหนือผ่านสนามบินเชียงใหม่ไปยังตัวเมืองเชียงใหม่ วนรอบตัวเมืองตามเข็มนาฬิกาและวกกลับลงไปยังสวนสัตว์ไนท์ซาฟารี มีระยะทางโดยรวมไป-กลับ 29.9 กิโลเมตรมีจำนวนสถานี 12 สถานีจำนวนรถที่ต้องใช้ จำนวน 9 คัน โดยมีความสามารถในการรับส่ง 700 คนต่อชั่วโมง
สำหรับสายที่ A2 สายสีเขียว เส้นทางสายตะวันตก โดยมีสถานีเริ่มต้นจากสวนสัตว์เชียงใหม่ผ่านมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่วิ่งไปทางทิศใต้ แล้วเลี้ยงซ้ายไปทางโรงพยาบาลสวนดอกก่อนกลับไปยังต้นทางมีระยะทางโดยรวมไป-กลับ 19.6กิโลเมตรมีจำนวนสถานี 10 สถานี จำนวนรถที่ต้องใช้ จำนวน 7 คัน โดยมีความสามารถในการรับส่ง 700 คนต่อชั่วโมง
และสายที่ A3 สายสีเหลือง เส้นทางสายตะวันออก โดยมีสถานีเริ่มต้นจากตลาดสมเพชร ผ่านกาดหลวง ไนท์บาซ่า ถนนช้างคลาน แล้วเลี้ยวซ้ายไปทางประตูท่าแพ ก่อนกลับไปยังต้นทางมีระยะทางโดยรวมไป-กลับ 19.6 กิโลเมตรมีจำนวนสถานี 10 สถานี จำนวนรถที่ต้องใช้ จำนวน 5คัน โดยมีความสามารถในการรับส่ง 700 คนต่อชั่วโมง
ดร.ศราวุฒิ กล่าวว่า เส้นนำร่องที่จะเริ่มดำเนินการในระยะที่ 1 ของโครงการ ได้แก่ สายที่ A1เส้นทางสายเหนือ-ใต้(สายสีน้ำเงิน และสายสีแดง) เนื่องจากเป็นเส้นทางเศรษฐกิจ ซึ่งสอดคล้องกับผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ที่สนับสนุนให้เริ่มดำเนินการเส้นทางที่ผ่านสนามบิน และแหล่งท่องเที่ยว เช่น ไนท์ซาฟารี และพืชสวนโลกก่อน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในจังหวัดเชียงใหม่
นอกจากนี้ยังมีเส้นทางสายย่อย (Feeder) สำหรับรองรับระบบขนส่งมวลชนสายหลัก ได้แก่ รถสองแถว(สี่ล้อแดง)ทำหน้าที่เป็นรถโดยสารของสายย่อยในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ เนื่องจากทางโครงการเห็นว่า ผู้ประกอบการรถสี่ล้อแดง เป็นสัญลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่ซึ่งไม่ขัดข้องในการเกิดขึ้นของโครงการ และเป็นโอกาสที่จะได้ร่วมทำหน้าที่ในการขนส่งผู้โดยสารป้อนระบบขนส่งมวลชนนี้
เทศบาลฯทุ่ม 12 ล้าน ซื้อรถเมล์ 12 คัน
นายทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ขณะนี้เทศบาลได้นำระบบรถเมล์ในเมืองเชียงใหม่ สาย 14 ทดลองวิ่ง ทดลองใช้แล้ว ในเส้นทางขนส่งอาเขต - สนามบิน – ขนส่งอาเขต ในราคาเด็ก 10 บาท ผู้ใหญ่ 15 บาท ซึ่งเทศบาลได้ลงทุนซื้อรถเมล์ขนาดเล็กขนาด 23 ที่นั่ง จำนวน 12 คัน คันละประมาณ 1 ล้านบาท รถเมล์ทุกคันจะติดตั้งจุดแขวนรถจักรยาน ซึ่งเส้นทางการเดินรถจะเข้าถึงและครอบคลุมทุกย่านชุมชนให้สามารถใช้บริการได้อย่างทั่วถึง
“เชียงใหม่มีปัญหารถติดหนักขึ้นเรื่อย ๆ ต้องทำให้คนใช้รถส่วนตัวน้อยลง นโยบายจึงมุ่งไปที่การพัฒนาระบบขนส่งมวลชน เชื่อมโยงกับการเดินทางด้วยการเดินและการใช้จักรยาน ในเขตเมืองตั้งเป้าหมายให้เขตเมืองเก่าหรือเขตตัวเมืองชั้นในเป็นศูนย์กลางการเดินทางโดยไม่ใช้เครื่องยนต์และจะมีการสร้างทางจักรยานเพิ่มขึ้นซึ่งตอนนี้มีโครงการจักรยานสาธารณะให้เช่าและจุดคืนจักรยาน16จุด มีจักรยานรองรับ 150 คัน เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่เดือนเมษายน 2558 ที่ผ่านมา”
การท่าฯ เตรียมลงทุนเอื้อขนส่งมวลชน
ครั้งเมื่อ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เดินทางมาจังหวัดเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงแผนงานในการพัฒนาระบบจราจรในบริเวณสนามบินนานาชาติจังหวัดเชียงใหม่ที่จะแออัดขึ้นว่า อนาคตจะพัฒนาลานจอดให้ได้ถึง 20 หลุมจอด ซึ่งจะทำให้บินได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจะเพิ่มผู้โดยสารจาก 8 ล้านคน เป็น 12 ล้านคน ภายในปี 2562 จำเป็นจะต้องพัฒนาที่จอดรถภายในบริเวณสนามบินเพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารเข้าออกด้วยเช่นกัน โดยมีแนวทางที่ต้องพิจารณาว่าจะใช้รูปแบบใด 1.จะสร้างเป็นที่จอดรถใหม่สูง 7 ชั้น จอดรถได้ 2,000 คัน 2.สร้างเทอร์มินัลลอยฟ้ามาคร่อมด้านบนของพื้นที่ด้านบน ทำให้มีพื้นที่เชื่อมต่อของเทอร์มินัลเดิม กับเทอร์มินัลใหม่ และพื้นที่ลานจอดรถ 3.สร้างที่จอดรถใต้ดิน 500 คัน เชื่อมกับของปัจจุบัน ให้เข้าออกได้เลย
พร้อมประกาศว่ากระทรวงคมนาคมพร้อมสนับสนุนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนผ่านสำนักงานพัฒนาพิงคนคร(องค์การมหาชน) เพื่อระบบนี้จะสามารถเชื่อมโครงข่ายวงแหวน วงกลาง วงนอก เพราะเมืองเจริญไปสุดถึงวงแหวนรอบนอกแล้ว อาจจะต้องมีวงแหวนอีกรอบหนึ่ง อาจจะใช้วิธีการให้การทางพิเศษฯ เข้ามาช่วย หรือทำทางด่วนเพิ่มเชื่อมจังหวัดใกล้เคียงเป็นต้น
นับว่าความเคลื่อนไหวด้านการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเชียงใหม่มีระดับของการพัฒนาที่ก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ เป็นขยับขับเคลื่อนที่ประชาชนในพื้นที่และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง หวังให้เกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนจริงๆในเร็ววัน
เครดิตภาพ : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา /เทศบาลนครเชียงใหม่