เรื่อง/ภาพ Sutida
กล่าวได้ว่าในห้วงนี้เป็นระยะก้าวของประเทศไทยที่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็น "เมืองจักรยาน" เข้าไปทุกขณะ ด้วยหลายปรากฏการณ์ที่เป็นแรงหนุนเสริมอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันในระดับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งส่งเสริมการใช้จักรยานอย่างจริงจัง คือมิติใหม่ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในเมืองไทยมาก่อน
จังหวัดเชียงใหม่ในฐานะเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจ การลงทุนและการท่องเที่ยว ก็อยู่ในช่วงอัตราเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่เมืองจักรยานเช่นกัน ด้วยการขับเคลื่อนการพัฒนาเส้นทางจักรยาน (Bike Lane) เชื่อมโยงเป็นวงรอบด้วยงบประมาณที่ถมลงมากว่า 78 ล้านบาท
กรมทางหลวงได้เปิดใช้ "ทางจักรยานเชียงใหม่" บนทางหลวงหมายเลข 121 ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม เป็นเส้นทางแรกอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2558 มีจุดเริ่มต้นจากศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา-สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี-อ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า รวมระยะทาง4.5 กิโลเมตร ด้วยงบประมาณในการก่อสร้างราว 19.8 ล้านบาท
สำหรับทางจักรยาน (Bike Lane) เส้นทางนี้แบ่งเป็น 2 ช่องทาง คือ ช่องทางสำหรับจักรยาน และช่องทางสำหรับผู้วิ่ง หรือเดินออกกำลังกาย ซึ่งช่องทางสำหรับจักรยานจะมีทั้งขาไปและขากลับ มีความกว้าง 1.5 เมตร เป็นเส้นทางเฉพาะจักรยานที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ใช้จักรยานทุกกลุ่มทั้งการปั่นออกกำลังกาย การปั่นเพื่อการท่องเที่ยว และการปั่นในชีวิตประจำวัน โดยตลอดแนวเส้นทางระยะ 4.5 กิโลเมตร ขนานไปกับคลองชลประทาน ถือเป็นเส้นทางจักรยานที่ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัยสูงและมีสภาพแวดล้อมที่สวยงาม
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย "Ride a Bike News" ว่า กระทรวงคมนาคมมีแผนพัฒนาทางจักรยาน (Bike Lane) ทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 13 เส้นทาง โดยจัดสรรงบประมาณพัฒนาไว้ทั้งสิ้น 400 ล้านบาท ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่มีโครงการพัฒนาทางจักรยานในหลายเส้นทางเชื่อมโยงเป็นวงรอบ (Loop) โดยเส้นทางแรกที่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์และเปิดใช้อย่างเป็นทางการแล้วคือ ทางหลวงหมายเลข 121 ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม เป็นเส้นทางที่ได้มาตรฐานตามแบบทางจักรยานของประเทศออสเตรเลีย
สำหรับวัตถุประสงค์สำคัญของการพัฒนา "ทางจักรยานเชียงใหม่" เพื่อส่งเสริมการใช้จักรยานทุก ๆ รูปแบบ ลดมลพิษสร้างเมืองให้น่าอยู่ ส่งเสริมการออกกำลังกายเพื่อการท่องเที่ยว เพื่อการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ซึ่งเส้นทาง 121 นี้ในหลักใหญ่แล้วเป็นไปในแนวทางเพื่อการออกกำลังกาย มีประชาชนเข้ามาปั่นออกกำลังกายเป็นจำนวนมาก
"ในเชียงใหม่มีอีกหลายเส้นทางที่เราจะทำรองรับการใช้จักรยานที่เพิ่มมากขึ้น นักปั่นต่างชาติก็เดินทางเข้ามาปั่นที่เชียงใหม่กันมากขึ้น ซึ่งการทำทางจักรยานทุกเส้นทางต้องมีมาตรฐานระดับสากล เพื่อเป็นจุดหมายการปั่นในระดับสากล ขณะที่คนเชียงใหม่เองก็ได้ใช้ทางจักรยานที่ดีและมีมาตรฐานด้วย เกื้อหนุนกันทุกกลุ่ม" นายอาคมกล่าว
ทุ่มเพิ่ม 40 ล้าน ปั้น 2 เส้นทาง
นายชูศักดิ์ เกวี อธิบดีกรมทางหลวงกล่าวว่า หลังจากทดลองเปิดใช้ "ทางจักรยานเชียงใหม่" สาย 121 มาได้ระยะหนึ่งพบปัญหาร้องเรียนหลายอย่าง เช่น รถจักรยานยนต์เข้ามาใช้ร่วมด้วย ซึ่งขณะนี้ได้เตรียมปรับปรุงแก้ไขไม่ให้ยานพาหนะอื่นเข้ามาใช้ด้วย พร้อมทั้งเตรียมแผนปรับปรุงภูมิทัศน์ตลอดแนวเส้นทาง โดยจะปลูกต้นไม้เพื่อให้มีร่มเงา
ขณะเดียวกัน ก็มีแผนพัฒนาทางจักรยานเชียงใหม่ที่จะเชื่อมโยงจากเส้นทาง121 เริ่มต่อจากศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯถึงบริเวณสี่แยกภูคำ เพื่อเชื่อมเส้นทางเข้าสู่เขตตัวเมืองเชียงใหม่ในเขตเทศบาล ที่กำลังเริ่มมีการพัฒนาทางจักรยานหลายเส้นทาง ซึ่งเส้นทางนี้อยู่ระหว่างการเสนอของบประมาณจำนวน 10 ล้านบาท และยังมีแผนสร้างทางจักรยานจากปากทางห้วยตึงเฒ่าเข้าไปสู่อ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่าระยะทางราว 6-7 กิโลเมตร ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจทางและจัดทำแผน
นอกจากนี้ อยู่ระหว่างการพัฒนาทางจักรยานในเชียงใหม่อีกเส้นทางหนึ่ง คือ เส้นทางหมายเลข 121 มีจุดเริ่มจากถนนวงแหวนแยกแม่เหียะ-แยกราชพฤกษ์ (พืชสวนโลก)-แยกสะเมิง ระยะทางไม่เกิน 10 กิโลเมตร งบประมาณ 30 ล้านบาท ขณะนี้ได้เริ่มการก่อสร้างแล้วราว 2-3% ใช้รูปแบบการก่อสร้างเดียวกับเส้นทาง 121 เส้นทางแรก เป็นช่องทางจักรยานทั้งขาไปและขากลับ โดยในระยะต่อไปกรมทางหลวงก็มีแผนสร้างทางจักรยานจากแยกสะเมิงเชื่อมไปถึงอำเภอสะเมิงด้วย
ขณะที่กรมทางหลวงชนบท ก็ได้พัฒนาทางจักรยานเชียงใหม่ เส้นทางจักรยานถนนสายเลี่ยงเมืองสันป่าตอง-หางดง จาก บ.ทุ่งเสี้ยว-อำเภอสันป่าตอง-อำเภอหางดง ระยะทางราว 13 กิโลเมตร ซึ่งเป็นช่องทางเฉพาะจักรยานทั้งขาไปและขากลับ ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์และเปิดใช้อย่างเป็นทางการแล้ว
นอกจากนั้น จังหวัดเชียงใหม่ยังมีโครงการพัฒนาเส้นทางจักรยานอย่างต่อเนื่อง โดยเตรียมแผนจัดทำอีก 3 เส้นทางคือ เส้นทางที่ 1 เส้นทางรอบคูเมืองเชียงใหม่ ระยะทางราว 13.5 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 8 ล้านบาท เส้นทางที่ 2เวียงกุมกาม อำเภอสารภี ระยะทาง 9.7 กิโลเมตร งบประมาณราว 3.7 ล้านบาท ซึ่งสองเส้นทางแรกเป็นเส้นทางในประเภทเขตเมืองและชุมชน เส้นทางที่ 3 เส้นทางสายพืชสวนโลก-พระธาตุดอยคำ-ไนท์ซาฟารี ระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตรเศษงบประมาณ 7.4 ล้านบาท เป็นเส้นทางสาธารณะและท่องเที่ยว โดยทั้งสามเส้นทางอยู่ระหว่างรอการจัดสรรงบประมาณจากกรมพลศึกษา
โครงข่ายทางจักรยานเชียงใหม่ เป็น Loop การพัฒนาที่เชื่อมโยงกันเป็นวงรอบ มีศักยภาพที่เอื้อต่อการใช้งานจริงในหลายวัตถุประสงค์ เป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนผ่านเมืองเชียงใหม่ มุ่งสู่ "เมืองจักรยาน" ในอนาคต
เนื้อหาและภาพเป็นของเว็บไซต์ rideabikenews
หากต้องการเผยแพร่ต่อ อนุญาตให้เผยแพร่-แชร์ผ่านลิงก์เว็บไซต์เท่านั้น