เรื่อง Sutida
กล่าวได้ว่าในห้วงนี้เป็นระยะก้าวของประเทศไทยที่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นเมืองจักรยานเข้าไปทุกขณะ ด้วยหลายปรากฏการณ์ที่เป็นแรงหนุนเสริมอย่างมีนัยยะสำคัญ
ประการแรก “Bike for Mom-ปั่นเพื่อแม่” ซึ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระปณิธานจัดขึ้นเพื่อให้ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ เอกชน รวมทั้งประชาชนทุกภาคส่วน ได้แสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 83 พรรษา 12 สิงหาคม 2558 อีกทั้งเพื่อเป็นการแสดงออกถึงความรัก ความสามัคคี ไม่แบ่งแยก และเพื่อให้ประชาชนได้มีสุขภาพร่างกายที่ดี สมบูรณ์ แข็งแรง
โครงการ “ปั่นเพื่อแม่” หรือ “Bike for Mom” นับเป็นอีเว้นท์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมี “จักรยาน” เป็นเครื่องมือสำคัญที่นำไปสู่ในหลายวัตถุประสงค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นกระแสที่ทำให้คนไทยทั่วประเทศหันมาให้ความสนใจจักรยานกันมากยิ่งขึ้น
ประการที่สอง รัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายสั่งการให้พัฒนาเส้นทางจักรยานทั่วประเทศให้เหมือนกับเมืองใหญ่ที่พัฒนาแล้วของประเทศต่างๆเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนใช้จักรยานกันให้มากขึ้น ซึ่งกระทรวงคมนาคมเป็นเจ้าภาพหลักที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาเส้นทางจักรยานทั่วประเทศภายในระยะเวลา 2 ปีนี้ รวมระยะทางราว 3,016 กิโลเมตร อยู่ภายใต้การดูแลของ 3 หน่วยงาน คือ กระทรวงคมนาคม กรุงเทพมหานคร (กทม.) และหน่วยงานส่วนภูมิภาค
ขณะที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างการศึกษาระบบการเชื่อมต่อการเดินทางด้วยจักรยานกับระบบขนส่งสาธารณะอย่างเป็นรูปธรรมพร้อมกับมีการตั้งคณะกรรมการพัฒนากฎหมายและมาตรการในการใช้จักรยานเพื่อความปลอดภัยและสร้างแรงจูงใจให้คนหันมาใช้จักรยานเพิ่มขึ้น และมีอีกหลายจังหวัดที่กำลังผลักดันให้จักรยานเป็นวาระและนโยบายเร่งด่วนของจังหวัด ด้วยการพัฒนาเส้นทางจักรยานเพื่อการท่องเที่ยวจากงบประมาณของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาที่มีงบสนับสนุนกว่า 1,000 ล้านบาท
ประการที่สาม ปรากฏการณ์ทางจักรยานสายยาวที่สุดในเอเชีย เป็นเส้นทาง (Route) ที่เชื่อม 5 จังหวัดจากปทุมธานีถึงชัยนาท ระยะทางราว 184.4 กิโลเมตร เป็นแรงผลักจาก "พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่เตรียมงบประมาณเพื่อโครงการนี้ไว้จำนวน 1,500 ล้านบาท ขณะนี้โครงการได้เริ่มดำเนินการแล้วมีความก้าวราว 20% คาดว่าการออกแบบรายละเอียดโครงการ (Detail-Design) จะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ (2558) จากนั้นเริ่มก่อสร้างในปี 2559 และจะแล้วเสร็จในปี 2560
ประการที่สี่ พฤติกรรมของคนใช้จักรยาน (The behavior of cyclists) นับเป็นอีกปรากฏการณ์หนึ่งที่สะท้อนชัดว่าประเทศไทยกำลังมีอัตราเพิ่มของสังคมจักรยานมากขึ้นอย่างมหาศาล จากกระแสความนิยมในการใช้จักรยานของพลเมืองในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการปั่นเพื่อออกกำลังกายที่ขยายตัวอย่างมากในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา และก่อเกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายนักปั่นตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอและจังหวัด หรือการปั่นเพื่อการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเช่นกัน
หลายปรากฏการณ์ในแวดวงจักรยานที่เกิดขึ้นในเมืองไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันในระดับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งส่งเสริมการใช้จักรยานอย่างจริงจัง คือมิติใหม่ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในเมืองไทยมาก่อน ซึ่งทุกปรากฏการณ์นั้น นับเป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ที่ทำให้เห็นภาพการเคลื่อนตัวของสังคมจักรยานที่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น จากปริมาณของผู้ใช้จักรยานที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการจัดอีเว้นท์จักรยานเชิงสร้างสรรค์ ทั้งเพื่อการท่องเที่ยวและเชิงสัญลักษณ์
การแพร่ขยายตัวของการปั่นจักรยานในทุกรูปแบบ เป็นการเคลื่อนในระดับมวลชนที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง และนับเป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนผ่าน (Transforming) สู่เมืองจักรยานของประเทศไทย ที่จะทำให้ “จักรยาน” กลายเป็นวัฒนธรรมในการเดินทางของพลเมืองไทยได้อย่างแท้จริงในอนาคต
เครดิตภาพ : สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท
ประชาชาติธุรกิจ www.prachachat.net