โดย ชาจีน
เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีความสำคัญเมืองหนึ่งและกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศไทย โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของเมืองเชียใหม่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากภาคการค้าและการท่องเที่ยว ที่มีนักท่องเที่ยวเฉลี่ยปีละประมาณ 5 ล้านคน
การขยายตัวของเมืองในแนวราบอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดปัญหาต่างๆมากมาย อาทิ การจราจรติดขัด มลพิษทางน้ำและอากาศ การเสื่อมสภาพของสภาพแวดล้อม เป็นต้น การขยายตัวโดยขาดการวางแผนจึงขัดแย้งกับรูปแบบเดิมของศูนย์กลางเมืองที่มีความกะทัดรัด
“โครงการขนส่งอย่างยั่งยืนเมืองเชียงใหม่” เป็นโครงการที่เทศบาลนครเชียงใหม่ ได้ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก และธนาคารโลก ในการวางแผนการจัดการขนส่งและจราจรร่วมกับการวางแผนการใช้ที่ดินอย่างเหมาะสมรวมถึงการออกแบบ และกำหนดให้มีเส้นทางสำหรับพาหนะที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ (Non-motorized transport route) ด้วย ซึ่งโครงการนี้ได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินแบบให้จำนวน 21 ล้านบาท จากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก
โดยโครงการที่ดำเนินมาด้วยระยะเวลา 18 เดือน ได้ดำเนินการมาถึงช่วงสุดท้ายกับกิจกรรมในโครงการทั้ง 2 ส่วนหลักคือ การวางแผนการขนส่งและจราจรร่วมกับแผนการจัดการที่ดิน โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งแผนนี้เป็นการวางแผนระยะยาวให้สอดคล้องกับแนวทางในการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ตามรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน
และส่วนที่ 2 คือ การออกแบบเส้นทางนำร่องสำหรับยานพาหนะที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ในเขตเมืองเก่า ซึ่งมีเส้นทางจักรยานเพิ่มขึ้น 8.1 กิโลเมตร และมีการพัฒนาพื้นที่บริเวณลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ให้เป็นศูนย์กลางการเดินทางโดยไม่ใช้เครื่องยนต์ รวมถึงจุดให้บริการรถสามล้อเพื่อการท่องเที่ยว และจักรยานสาธารณะแก่นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไป
ทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ กล่าวกับ “Ride a bike News” ว่า ปัจจุบันในเขตเมืองเชียงใหม่มีจำนวนประชากรในเขตตัวเมืองเชียงใหม่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทั้งคนที่อยู่อาศัยและคนที่เดินทางเข้ามาทำงานและติดต่อธุระด้านต่างๆ ทำให้มีการกระจุกตัวของปริมาณรถยนต์ รถจักรยานยนต์และส่งผลให้การจราจรติดขึ้นเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ซึ่งโครงการขนส่งอย่างยั่งยืนเมืองเชียงใหม่ จะเป็นโมเดลที่จะช่วยแก้ปัญหาความแออัดของเมืองได้ทางหนึ่ง
โดยเฉพาะในย่านเขตเมืองเก่าสี่เหลี่ยมคูเมืองที่ถูกออกแบบ (Design) ให้เป็นพื้นที่นำร่องเพื่อการขนส่งแบบไร้เครื่องยนต์ เพื่อเอื้อต่อการเดินและปั่นจักรยาน ขณะเดียวกัน ก็เตรียมแผนพัฒนาย่านอื่นๆต่อไป พร้อมทั้งการวางระบบขนส่งมวลชนที่จะเชื่อมโยงการเดินทางได้อย่างเป็นระบบ
โครงการนี้จะเป็นโมเดลสำคัญสำหรับเมืองเชียงใหม่ ที่จะเป็นเมืองตัวอย่างสำหรับการเดินทางแบบไร้เครื่องยนต์ให้กับเมืองอื่นๆทั้งในและต่างประเทศ และจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆในการพัฒนาให้เชียงใหม่เป็นเมืองแห่งจักรยานและการเดิน
“จุดนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เมืองน่าอยู่มากขึ้น ซึ่งเทศบาลนครเชียงใหม่จะไม่หยุดพัฒนาเมือง แต่จะพัฒนาไปสู่เมืองที่มีการเดินทางที่ทันสมัย สะดวกสบาย และมีระบบเชื่อมต่อของการเดินทางอย่างดีที่สุดในอนาคตอีกเมืองหนึ่งของโลก”