ประเด็นปัญหาและความท้าทายด้านการจราจรที่คับคั่ง จำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นของจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้เทศบาลนครเชียงใหม่ต้องเร่งทบทวน และหาแนวทางระบบการเดินทางของเมืองที่มีความยั่งยืน
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ มีประชากรที่ได้รับการลงทะเบียนจำนวน 1.3 แสนคน หากรวมกับนักท่องเที่ยว คนทำงานและแรงงานแฝงที่ไม่ได้ลงทะเบียน คาดว่าจะมีจำนวนประชากรราว 4.5-5 แสนคนที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่
สถิติปี 2558 นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในจังหวัดเชียงใหม่ 9.2 ล้านคน
เศรษฐกิจเติบโต การเดินทางและการจราจรติดขัด ระบบการขนส่งมวลชนที่ยังไม่เหมาะสมต่อการใช้บริการ ทางเดินเท้าและทางจักรยานที่ยังไม่เอื้อต่อการใช้งาน มีการใช้รถส่วนตัวในปริมาณที่สูงขึ้นอย่างมาก ข้อมูลปี 2557 มีการจดทะเบียนรถทุกประเภทมากถึง 1.2 ล้านคัน
“ทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ กล่าวว่า เทศบาลนครเชียงใหม่ ร่วมกับ Connective Cities โดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (GIZ) และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ประชุมระดมความคิดวางแผนการจัดการเดินทางและขนส่งเมืองเชียงใหม่ตามแนวความคิดการเดินทางแบบคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Mobility and Planning) ซึ่งการวางแผนจัดการเดินทางและการขนส่งเมืองเชียงใหม่แบบคาร์บอนต่ำ จะเป็นกลไกสำคัญต่อการพัฒนาเมืองด้านการจราจรและการขนส่งอย่างยั่งยืนจากการขนส่งที่มีอยู่เดิมและแผนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
โดยขณะนี้เทศบาลนครเชียงใหม่ ได้จัดระบบการเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะ (รถเมล์) รวมทั้งหมด 3 สาย ซึ่งถือว่ามีประสิทธิภาพสูงขึ้นในการขนส่งผู้โดยสาร
รถเมล์สีขาวปรับอากาศ ขนาด 23 ที่นั่ง สาย B1 จำนวน 6 คัน และสาย B2 จำนวน 6 คัน เปิดให้บริการมาเกือบ 2 ปี เป็น 2 เส้นทางที่ตอบโจทย์การใช้บริการของประชาชนในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ได้เป็นอย่างดี สถิติของผู้ใช้บริการในช่วงเกือบ 2 ปี มีจำนวน 134,011 คน ช่วยลดปริมาณรถยนต์ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ได้ราว 44,670 คัน
รถเมล์ทุกสายมีจุดเริ่มต้นของเส้นทางเดินรถที่สถานีขนส่งอาเขต
สาย B1 ออกจากสถานีขนส่งอาเขต ผ่านสถานีรถไฟเชียงใหม่ สุดปลายทางที่สวนสัตว์เชียงใหม่
สาย B2 ออกจากขนส่งอาเขต ผ่านประตูท่าแพ สุดปลายทางที่สนามบินเชียงใหม่ แล้วย้อนกลับมาที่ขนส่งอาเขตทั้ง 2 สาย ราคาค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย สำหรับนักเรียน-นักศึกษาในเครื่องแบบ และพระสงฆ์ ค่าบริการโดยสาร 10 บาทตลอดสาย
ล่าสุด ได้เพิ่มรถเมล์สาย B3 เป็นเส้นทางเดินรถโดยสารประจำทางเส้นทางที่ 3 อีกจำนวน 6 คัน
เส้นทางเดินรถ B3 ออกจากสถานีขนส่งอาเขต เข้าสู่ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ ผ่านโรงพยาบาลเทพปัญญา เลี้ยวซ้ายเข้าตลาดคำเที่ยง เข้าถนนช้างเผือก ผ่านหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ แยกข่วงสิงห์ เข้าสู่ถนนโชตนา เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนหนองฮ่อ ผ่านหน้าทหารผ่านศึก กองกำลังผาเมือง ผ่านโรงพักช้างเผือก ผ่านถนนหน้าศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯ เข้าถนนคันคลองชลประทาน ผ่านบ้านพักข้าราชการ สนามกีฬา 700 ปี โรงเรียนนวมินทราชูทิศ แล้วเข้าศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นเส้นทางกลับ ผ่านโรงแรมกรีนเลค เลี้ยวซ้ายเข้าถนนหนองฮ่อ ออกถนนโชตนา ถึงสี่แยกข่วงสิงห์ เลี้ยวซ้ายผ่านโรงพยาบาลลานนา ผ่านห้างฯเซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่ และเลี้ยวขวาเข้าถนนแก้วนวรัฐ และเลี้ยวซ้ายเข้าสถานีขนส่งอาเขต เป็นสถานีสุดท้ายปลายทาง ค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย นักเรียน-นักศึกษาในเครื่องแบบ และพระสงฆ์ คิดค่าโดยสาร 10 บาทตลอดสาย
แผนงานของเทศบาลฯในระยะต่อไป คือ เร่งเพิ่มโครงข่ายเส้นทางรถเมล์ให้ครอบคลุมมากที่สุด เฉลี่ยปีละ 1 เส้นทาง คาดว่าโครงข่ายที่ครอบคลุมจะต้องมีไม่ต่ำกว่า 10 เส้นทาง และเพื่อไปสู่เป้าหมายของการเดินทางแบบคาร์บอนต่ำ ก็เตรียมแผนปรับเป็นรถเมล์ที่ปลอดมลพิษให้มากขึ้น
นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ บอกว่า การสร้างทางเลือกให้กับผู้ใช้รถส่วนบุคคลหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น จะช่วยทำให้เมืองน่าอยู่ขึ้น รวมถึงการเดินทางโดยใช้จักรยานในเขตตัวเมือง ที่จะตอบโจทย์เมืองคาร์บอนต่ำได้เป็นอย่างดี ซึ่งการเดินทางทั้งสองทางเลือกนี้จะผสมผสานกับระบบการเดินทางที่ยั่งยืนของเชียงใหม่ โดยมีเป้าหมายเพิ่มการใช้ระบบขนส่งไร้เครื่องยนต์และขนส่งสาธารณะให้เพิ่มขึ้น 30% ภายในปี 2573
โดยจะปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานรองรับการใช้จักรยานให้ดีขึ้น ทั้งเส้นทางจักรยาน (Bike Lane) และกรณีรถยนต์หรือจักรยานยนต์ที่มาจอดทับทางจักรยานก็ต้องหามาตรการ เช่นอาจใช้ CCTV ในการตรวจจับ หรือกรณีการจดรถในที่ห้ามจอด รวมถึงการจำกัดรถบางประเภทไม่ให้เข้ามาในสี่เหลี่ยมคูเมือง ซึ่งประเด็นนี้จะต้องมีการจัดเวทีการมีส่วนร่วมความคิดเห็นของประชาชนในเขตเมืองก่อนนำมาบังคับใช้ ปัจจุบัน ได้ทำการติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) ในเขตเทศบาลฯแล้วจำนวนกว่า 300 ตัว และปลายปีนี้จะติดตั้งเพิ่มในเฟสสุดท้ายอีกกว่า 100 ตัว ซึ่งจะทำให้มี CCTV รวมกว่า 400 ตัว ด้วยงบประมาณที่จัดซื้อกว่า 100 ล้านบาท
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญจากเมืองใหญ่ 4 แห่งจากประเทศเยอรมนี ภายใต้ Connective Cities (GIZ) ได้นำเสนอยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการเดินทางของเมืองเชียงใหม่ตามแนวทางคาร์บอนต่ำ เช่น การเดินทางด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Mobility) ระบบขนส่งไร้เครื่องยนต์ อาทิ จักรยาน รวมถึงการปรับปรุงทางเท้า