เรื่อง/ภาพ ชาจีน
ภาพๆหนึ่งที่ชาวเมืองชัยนาทคุ้นชินและได้เห็นเป็นปกติเกือบทุกวันก็คือ การปั่นจักรยานของผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท ซึ่งไม่ว่าจะปั่นรูปแบบใด ในช่วงเวลาไหน ทั้งปั่นไปทำงานหรือปั่นออกกำลังกาย เสียงกระดิ่งจักรยานจะดังไปตลอดเส้นทางทั่วคุ้งน้ำเมืองชัยนาท พร้อมๆกับคำเอ่ยทักทายผู้คนอย่างเป็นกันเองและมีไมตรีจิตของผู้ว่าฯ “เก่ง” “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ”
ช่วงเวลา 8 เดือนที่เข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท “ผู้ว่าฯเก่ง” ปั่นจักรยานจากจวนผู้ว่าฯไปทำงานที่ศาลากลางจังหวัดชัยนาทเกือบทุกวัน รวมถึงปั่นออกกำลังกายตอนเช้าและเย็นเกือบทุกวันเช่นกัน เพื่อต้องการรณรงค์ให้ชาวเมืองชัยนาทหันมาใช้จักรยานกันให้มากขึ้น กระทั่งกำหนดเป็นนโยบายพัฒนาจังหวัด “ชัยนาทเมืองจักรยาน” เหตุผลของการมุ่งพัฒนาชัยนาทสู่เมืองจักรยานคืออะไร?
ผู้ว่าฯ เก่ง บอกว่า ด้วยศักยภาพของจังหวัดชัยนาทที่มีลักษณะเด่นทางภูมิรัฐศาสตร์ เป็นเมืองสีเขียว เมืองมีขนาดไม่ใหญ่ คนและรถไม่เยอะ ซึ่งเมื่อประมวลกับสิ่งที่จะทำว่ามีคุณค่าหรือไม่ และเชื่อว่า “จักรยานมีคุณค่า” คือ มีคุณค่าต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและประหยัด
“จักรยานเป็นเหมือนสายใยสังคม เป็นสังคมแห่งความเอื้ออาทร เป็นสังคมน่าอยู่ คนปั่นจักรยานไม่โดดเดี่ยว แต่เราได้ซึมซับเพื่อนบ้าน ได้สัมผัสธรรมชาติตามเส้นทางที่เราปั่นไป เราได้พูดคุยทักทายกัน ถ้าเราขับรถยนต์เราคุยกับใครไม่ได้ แต่จักรยานเรายิ้มและทักทายผู้คนตลอดเส้นทางได้ ผู้ว่าฯ ไม่ใช่คนที่ชาวบ้านจะต้องกลัวหรือเข้าหายาก แต่ผมปั่นจักรยานไปนี่ ชาวบ้านจะมาฟ้องหรือร้องเรียนอะไรก็ได้ ไม่ต้องทำหนังสือเพื่อรอเข้าพบ ซึ่งจักรยานเป็นเครื่องมือวัดในหลายๆสิ่ง ทั้งทำให้คนมีสุขภาพที่ดีและช่วยชะลอความเสื่อมสลายของโลกได้”
ผู้ว่าฯ เก่ง บอกด้วยว่า โดยส่วนตัวให้ความสนใจการใช้จักรยานตั้งแต่เป็นผู้ว่าฯ จังหวัดสระบุรี ก่อนที่จะย้ายมาชัยนาท ซึ่งที่นั่นก็ได้เริ่มรณรงค์ส่งเสริมการใช้จักรยานและจัดเส้นทางจักรยาน (Route) ต่างๆไว้บ้างแล้ว แต่เมื่อมาประจำการที่ชัยนาท ได้เห็นความตื่นตัวเรื่องจักรยานของชาวชัยนาทที่ทำกันมานาน ซึ่งจะเน้นหนักไปในเรื่องการปั่นออกกำลังกาย
“พอผมมาอยู่ชัยนาท ก็เริ่มเข้ากลุ่มจักรยาน อยากส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ผมมีจักรยานคันละ 3 หมื่นบาท ซื้อที่สระบุรี แต่ไม่เอามาปั่น เพราะมาทบทวนดูว่า เราเป็นผู้นำ และต้องการส่งเสริมเรื่องนี้ ถ้าเราปั่นจักรยานราคาแพงๆ ชาวบ้านจะไม่กล้าออกมาปั่น ไม่กล้าใช้จักรยาน ก็เลยคิดว่าเราปั่นจักรยานราคาไม่กี่พันบาทดีกว่า เป็นจักรยาน city bike ธรรมดาๆ ไม่มีเกียร์ ผมใช้คันนี้ปั่นไปทำงานและปั่นออกกำลังกายด้วย คันนี้ปั่นระยะไกลได้สบายๆ ไปกลับประมาณ 70 กิโลเมตร ขึ้นอยู่กับแรงขาและจุดมุ่งหมายในการใช้จักรยานของเรา รองเท้าปั่น ผมก็ใช้รองเท้ากีฬาธรรมดา ไม่ว่าชาวบ้านยากดีมีจน ทุกคนเข้าถึงจักรยานได้ จักรยานไม่ใช่สิ่งน่ารังเกียจ แต่ใครๆก็ปั่นได้”
จักรยานได้ถูกกำหนดให้เป็นวาระการพัฒนาเมืองที่สำคัญของจังหวัดชัยนาท ภายใต้นโยบาย “ชัยนาทเมืองจักรยาน” และเริ่มต้นปี 2558 ประกาศให้ชัยนาทเป็นเมืองจักรยานอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยการขับเคลื่อนโครงการ “ชัยนาทเมืองจักรยาน 12 เดือนแห่งการปั่น” (Chainat The city of bike) โดยจังหวัดชัยนาทร่วมกับชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพจังหวัดชัยนาท และทุกภาคส่วน กำหนดจัดกิจกรรมปั่นกันตลอดระยะเวลา 12 เดือน เฉลี่ยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และสร้างกระแสการปั่นจักรยาน ซึ่งจะส่งผลดีทั้งต่อสุขภาพของประชาชน สิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด
“โครงการชัยนาทเมืองจักรยาน 12 เดือนแห่งการปั่น หน่วยงานภาครัฐและเอกชนทุกๆภาคส่วนร่วมกันคิด ร่วมกันทำกว่า 20 องค์กรที่ร่วมกันเป็นเจ้าภาพ ถ้าเราต้องการให้จักรยานมีคุณค่า จะรณรงค์ปั่นปีละครั้งหรือ 3 เดือนครั้งไม่ได้ ไม่พอ ต้องรณรงค์กันทุกเดือน เพื่อปลุกกระแสให้ทุกชุมชนออกมาใช้จักรยาน และยังเป็นแม่เหล็กดึงให้คนจากที่อื่นมาปั่นที่ชัยนาทมากขึ้น ซึ่งก็จะสนับสนุนธุรกิจอื่นๆตามมาทั้งธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับจักรยาน ร้านอาหาร โรงแรม เป็นการส่งเสริมธุรกิจในชุมชนและการท่องเที่ยวของจังหวัดในอีกทางหนึ่งด้วย โครงการนี้จะมีความต่อเนื่องและเป็นนโยบายของจังหวัดชัยนาทที่ต้องทำทุกปี การรณรงค์ต่อเนื่องจะทำให้คนหันมาใช้จักรยานโยอัตโนมัติ และจะนำไปสู่การเป็นเมืองจักรยานที่เราตั้งเป้าหมายไว้”
ผู้ว่าฯเก่ง กล่าวถึงการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการใช้จักรยานในเมืองชัยนาทว่า ได้ของบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐส่วนกลางราว 34 ล้านบาท เพื่อนำมาพัฒนาตามนโยบายชัยนาทเมืองจักรยาน แต่ยังไม่ได้รับอนุมัติ
ปัจจุบันในเขตตัวเมืองชัยนาทไม่มีทางจักรยาน (bike lane) ซึ่งการทำทางจักรยานในเขตตัวเมืองอาจทำได้ยาก ด้วยเพราะถนนค่อนข้างแคบ แต่การไม่มีทางจักรยานก็ไม่ได้เป็นอุปสรรค และไม่ใช่คำตอบของการนำไปสู่เมืองจักรยาน จักรยานสามารถปั่นบนถนนทั่วๆไปได้ ใช้ร่วมกันได้กับยานพาหนะอื่นๆ เพียงแค่ทุกคนต้องสร้างจิตสำนึกของความเท่าเทียม การแบ่งปันและเอื้ออาทรต่อกันในการใช้รถใช้ถนน
“ตอนนี้จังหวัดชัยนาทกำลังสร้าง Landmark ที่ “เขาขยาย”กว่า 2 พันไร่ ซึ่งที่นี่เป็นสถานที่แห้งแล้งและทุรกันดาร หรือเรียกว่าเป็นภูเขาทะเลทราย เรากำลังเร่งพัฒนาให้เป็น destination ที่มีชีวิตขึ้นมา จะทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่และเป็นจุดหมาย จุดพักของคนปั่นจักรยาน”
ทุกอาทิตย์ ผู้ว่าฯ เก่ง จะปั่นจักรยานลงพื้นที่เพื่อไปพบปะเยี่ยมเยือนชมรมจักรยานในชุมชนและอำเภอต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้แต่ละชุมชนส่งเสริมการใช้จักรยาน ซึ่งในบางครั้งชมรมต่างๆก็ปั่นมาสมทบกันและปั่นไปด้วยกัน
“ทำอย่างไรจะทำให้จักรยานมีความมั่นคงในทุกหัวระแหง ผมขอความร่วมมือให้ชุมชนต่างๆในชัยนาท รวมกลุ่มตั้งชมรมจักรยานกันขึ้นมา เพราะนโยบายเรื่องจักรยานของเราคือ อยากให้คนออกมาใช้จักรยานกันให้มากขึ้นจะในรูปแบบไหนก็ตาม จะปั่นเพื่อสุขภาพ ปั่นในชีวิตประจำวัน หรือปั่นเพื่อพักผ่อนท่องเที่ยว ก็ถือเป็นการเพิ่มพลเมืองจักรยานทั้งนั้น ซึ่งในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา เราพบว่าอัตราการใช้จักรยานในเมืองชัยนาทเพิ่มสูงขึ้นถึง 1 หมื่นคัน ผมมองว่า ถ้าพลเมืองจักรยานเพิ่มขึ้น พลังของเมืองจักรยานก็จะมากขึ้น”
“ตอนนี้เราจุดไฟติดแล้ว เราใช้ปี 2558 เริ่มต้นเดินหน้าสู่เมืองจักรยาน ด้วยโครงการชัยนาทเมืองจักรยาน 12 เดือนแห่งการปั่น แต่เราอย่าเอาชีวิตฝากไว้กับราชการ เพราะผู้ว่าฯมาแล้วก็ไป การที่ชัยนาทจะเป็นเมืองจักรยานได้อย่างยั่งยืน ท้องถิ่นกับชุมชนต้องช่วยกัน ต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนกันต่อไป 12 เดือนแห่งการปั่นต้องทำกันต่อไปต่อเนื่อง อย่าหยุด”
“จักรยานทำให้เกิดความสุข ผมชอบจักรยาน และเห็นคุณค่าของมัน”