โดย ชาจีน
สมปรารถนา คล้ายวิเชียร บรรณาธิการเครือมติชน ปั่นจักรยานและผูกพันกับจักรยานมานานกว่า 10 ปี แรกเริ่มจับสองล้อมาปั่นเล่นๆ ปั่นเพื่อออกกำลังกายเบาๆ จากนั้นขยายวงเข้ากลุ่มจักรยาน Thai MTB ปั่นละแวกชานเมืองกรุงเทพมหานคร ในช่วงวันหยุดเสาร์ – อาทิตย์ ระยะทาง 10 – 20 กิโลเมตร แต่เมื่อรวมก๊วนได้เยอะๆ 10 – 20 คน ก็ขยับเส้นทางปั่นไปไกลถึงวัดดอนหวาย จังหวัดนครปฐม ไปตลาดน้ำดำเนินสะดวก ปั่นเข้าสวนเมืองนนท์บ้าง ไปการไฟฟ้าบางกรวยบ้าง และเกิดเป็นชุมชนคนชอบจักรยาน ในนามกลุ่มรวมมิตร
“เราได้สังคมกลุ่มเล็กๆ ได้ออกกำลังกายไปด้วยกัน ได้ไปเที่ยวในที่ๆไม่เคยไป จักรยานพาเราซอกแซกไปได้ในทุกมุม ปั่นไปกันอย่างมีเป้าหมาย บางครั้งปั่นไปหาร้านอาหาร ไปกิน ไปสังสรรค์ และหลายครั้งที่เรามีกิจกรรมทางสังคมร่วมกัน จัดทริปจักรยานไปปั่นที่ต่างจังหวัดเอาสิ่งของไปบริจาค ปั่นไปทอดกฐิน ทำบุญ ไปช่วยกันซ่อมจักรยาน ซึ่งเมื่อมีโอกาสเราก็ทำกันเรื่อยๆ ผมปั่นกับกลุ่มมา 3 – 4 ปีต่อเนื่อง”
เขาเล่าว่า เมื่อแรกเริ่มปั่นจักรยาน คนมองเขาว่า ปั่นทำไม? เหนื่อยก็เหนื่อย ร้อนก็ร้อน แต่สำหรับเขา การปั่นจักรยานมีความสนุก มีเป้าหมายที่ท้าทาย และเริ่มปั่นจักรยานไปทำงานเมื่อ 2 – 3 ปีที่ผ่านมา
“เพราะสภาพการจราจรเป็นแรงบีบ ชะตากรรมที่เจอรถติดเกือบทุกวัน บ้านผมอยู่ปทุมธานีห่างจากออฟฟิศมติชนประมาณ 22 กิโลเมตร แต่ต้องใช้เวลาเดินทางขับรถเป็นชั่วโมงๆ ดูแล้วไม่มีทางเลือกอื่น ก็เลยลองปั่นจักรยานไปตามเส้นทางที่เคยขับรถไปทุกวัน ก็ใช้เวลาในการปั่นประมาณชั่วโมงเศษๆ พอๆกับขับรถ แต่รถไม่ติด ผมสามารถซอกแซกไปได้ไม่หงุดหงิดและที่สำคัญได้ออกกำลังกายไปในตัว”
เขาบอกว่า ปั่นจักรยานไปทำงานตลอด 2 – 3 ปี ซึ่งการปั่นบนถนนไม่มีอะไรน่ากลัว ถ้ารู้จักวิธีการปั่นอย่างระมัดระวัง ซึ่งบางครั้งเขาก็ใช้วิธีขึ้นไปปั่นบนฟุตบาท (แม้จะเป็นฟุตบาทที่สภาพแย่ๆ) แต่ก็ปลอดภัยเมื่อต้องเจอถนนบางช่วงที่รถหนาแน่นและการจราจรติดขัดมาก
“ผมปั่นจักรยานมา 10 ปีแล้ว ไม่เคยคิดเลิกปั่น เหมือนเสพติด นึกไม่ออกว่าปั่นจักรยานมีโทษอะไร ไม่ว่าจะปั่นในรูปแบบไหน ผมก็ชอบ ใครจะปั่นเพื่อเอาเท่ ปั่นไปท่องเที่ยว ปั่นไปซื้อของหน้าปากซอย ปั่นเป็นไลฟ์สไตล์ในชีวิตประจำวัน ปั่นแข่งขัน หรืออะไรก็ตาม ผมว่าจักรยานตอบโจทย์ได้ทุกวัตถุประสงค์ ได้ทุกกลุ่ม โดยเฉพาะช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อม เพียงแค่เราปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จากขับรถไปเซ่เว่นฯหน้าปากซอย ก็ลองหันมาปั่นจักรยานดูบ้าง ในระยะใกล้ๆ แค่นี้ก็ช่วยสิ่งแวดล้อมได้เยอะแล้ว”
เขายังบอกอีกว่า โดยส่วนตัวไม่เชื่อเรื่องการขับเคลื่อนของภาครัฐ ที่ไม่ส่งเสริมหรือมีนโยบายเรื่องจักรยานเป็นจริงเป็นจัง การขับเคลื่อนยังล่าช้า แต่ก็มีหน่วยงานส่วนปกครองท้องถิ่นในหลายๆเมืองที่ขับเคลื่อนอยู่ ก็เป็นเรื่องที่ดีและสามารถขับเคลื่อนกันได้เอง โดยไม่ต้องรอรัฐส่วนกลาง
“ในมุมมองของผม ผมไม่สนใจว่าถนนต้องมีไบค์เลน (Bike Lane) ไม่มีก็สามารถปั่นได้ ในข้อเท็จจริงก็เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญสำหรับจักรยาน แต่ตราบที่ภาครัฐยังไม่ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ เราก็ไม่จำเป็นต้องรอ และทุกวันนี้หลายๆเมือง หลายๆจังหวัดก็ไม่มีทางจักรยานหรือไบค์เลน แต่จักรยานก็โตได้ด้วยตัวเอง”