โดย ชาจีน
ความแออัดและวุ่นวายของเมืองกรุง ทำให้ใครหลายๆคนที่ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นมักเรียกร้องหาวิถีแบบธรรมชาติ....ป่าไม้ สายน้ำ ภูเขา ทะเล ฯลฯ เช่นเดียวกับ “พรศักดิ์ สุคงคารัตนกุล” หรืออีกชื่อหนึ่งในสังคมชาว facebook เรียกขานเขาว่า “Lek Meepooh” เขาเป็นคนกรุงโดยแท้ เกิด เติบโต เรียนหนังสือและทำงานที่นั่น แต่ชีวิตกลับอยากอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ โดยเฉพาะ “ภูเขา” เป็นสิ่งที่เขาชอบมากที่สุด
เขาทำงานสายเอ็นจีโอ ในองค์กรมูลนิธิด้านเด็กย่านฝั่งธนฯ การเดินทางจากบ้านไปทำงานต้องขึ้นรถเมล์ ฝ่ารถติด ทำให้เขายิ่งอยากสัมผัสใกล้ธรรมชาติมากยิ่งขึ้น และสิ่งที่เขานึกถึงก็คือ “จักรยาน” เพราะจักรยานทำให้มีโอกาสได้ใกล้กับธรรมชาติ เป็นอิสระ ได้ออกจากชีวิตที่ซ้ำซาก จักรยานคันแรกของเขา “Trek สีขาว” ปั่นไปทำงานในระยะทาง 30 – 40 กิโลเมตร
“จักรยานเป็นอะไรที่ใกล้ธรรมชาติมากที่สุดแล้ว ในช่วงเวลานั้นเรานึกถึงจักรยาน อาจเป็นเพราะตอนเด็กๆชอบปั่นจักรยาน อารมณ์แฟนฉัน เป็นความผูกพันตั้งแต่สมัยเด็กๆ พอโตมา ได้ทำงานเราเริ่มห่างจากจักรยาน แต่ในใจลึกๆมีความผูกพันอยู่มาก”
จุดหักเหเมื่อปี 2540 มีคนชักชวนให้มาทำงานสายเอ็นจีโอด้านเด็กที่จังหวัดเชียงราย และเปลี่ยนผันมาทำงานด้านเด็กเกี่ยวกับการผลิตสื่อ แต่การทำงานในแต่ละวันกลับใช้รถมอเตอร์ไซค์เป็นส่วนใหญ่ จักรยานที่หอบหิ้วมาจากเมืองกรุงถูกปล่อยทิ้งแน่นิ่ง ยางแบน ยักไย่เกาะ
“เป็นช่วงที่เราห่างเหินกับจักรยามาก เหมือนจะลืมไปเลย ถ้าเขามีชีวิตก็คงน้อยใจ เพราะช่วงนั้นเราทำงานหนักทุกวันแบบหามรุ่งหามค่ำ ทำให้สุขภาพเริ่มแย่ลง อ้วน น้ำหนักขึ้นถึง 74 กิโลกรัม รู้สึกไม่สดชื่น เมื่อยเนื้อเมื่อยตัวบ่อยๆ นั่งคิดทุกวันว่า ทำงานทุกวัน ทำไมสุขภาพแย่ลง แวบแรกตอนนั้นคิดถึงจักรยาน”
จักรยานที่ “จมหาย” ไปจากชีวิตช่วงหนึ่ง ถูกจูงไปร้านซ่อมจักยาน สูบลม เช็คสภาพ ปัดยักไย่ เช็ดล้างทำความสะอาดให้กลับมามีชีวิตชีวา การปั่นจักรยานอย่างจริงจังของ “Lek Meepooh” จึงเริ่มขึ้น และจักรยานจึงกลับมาเป็นพระเอกอีกครั้ง
หลังเสร็จสิ้นภารกิจราวห้าโมงเย็นจากงาน Production House ที่เป็นออฟฟิศเล็กๆอยู่ที่บ้าน เขาก็จะใส่ชุดปั่นจักรยาน นั่งบนอานและปั่นไป
การปั่นจักรยานของเขาเป็นไปอย่างมีเป้าหมาย เน้นเรื่องการออกกำลังกายและสุขภาพ ระยะทางกับเวลาที่ปั่นจะสัมพันธ์กัน ในแต่ละวันจะปั่นในระยะ 15 – 20 กิโลเมตร ใช้เวลา 1 – 1.5 ชั่วโมง ปั่นขึ้นเขา ทางลาดและทางชัน เส้นทางปั่นอยู่ในเขตตำบลบ้านดู่ อำเภอเมือง เชียงราย แต่เป็นเส้นทางที่มีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ สวยงาม
“เทือกเขา แนวเขาทุกลูกเราไปมาหมด ภูเขาแนวบ้านดู่จะติดกับเทือกเขาแม่จัน แต่อยู่คนละด้าน เป็นเทือกเขาที่สวยงามมาก ตลอดแนวเรารู้จักภูเขาทุกลูก ซอกซอนไปในหมู่บ้านต่างๆ ได้รู้ภูมิศาสตร์ของพื้นที่บริเวณนี้มากขึ้น สามารถพัฒนาเป็นเส้นทางปั่นจักรยานได้อีกแห่งหนึ่ง”
เขาบอกว่า การปั่นจักรยานสำหรับตัวเองนั้นมีองค์ประกอบสำคัญคือธรรมชาติ ดังนั้น การปั่นเพื่อออกกำลังกายก็จะได้สุขภาพที่แข็งแรงขึ้น แต่การได้ปั่นไปเจอธรรมชาติจะได้ความสุขทางใจ-ทางสายตา การปั่นของเขาจึงไม่เร่งรีบเพียงเพื่อให้ถึงเป้าหมาย แต่ระหว่างทางได้เจอวิวสวยๆ ทุ่งนาสีเขียว ภูเขา แม่น้ำสายเล็กๆ ก็จะหยุดถ่ายรูป เพื่อสัมผัสกับธรรมชาติอย่างช้าๆ
“ถ้าจะพูดก็เหมือนดัดจริต แต่ถ้าขาดสิ่งเหล่านี้ไปจะเหมือนขาดอะไรไปสักอย่าง การทำงานด้านกราฟฟิก อยู่หน้าคอมฯตลอดทั้งวัน พอได้ใกล้ชิดกับจักรยาน ชีวิตมีความสุขขึ้นทันที สุขภาพและจิตใจดีขึ้น และเป็นส่วนที่ทำให้สังคมและสิ่งแวดล้อมดีขึ้นด้วย การปั่นจักรยานของเราตอนนี้กลายเป็นวินัยของตัวเอง ต้องปั่นทุกวัน ยกเว้นติดงานหรือออกกองถ่ายทำสารคดีก็จะเว้นบ้าง”
Lek Meepooh บอกว่า สองขาของเราเดินได้น้อยมาก แต่จักรยานคือขาที่สาม ที่จะทำให้เราได้โลดแล่นไปในโลกกว้าง ได้เห็นการเชื่อมโยงกับธรรมชาติได้มากขึ้น แต่หากเปรียบกับมอเตอร์ไซค์ จะขี่ไปอย่างรวดเร็ว ผ่านเลยในสิ่งที่สวยงาม แต่จักรยานจะทำให้เราได้เห็นการเคลื่อนไหวของธรรมชาติ ที่อยู่ในการรับรู้ของเรา
“เคยคิดปั่นจักรยานในชีวิตประจำวันเหมือนกัน แต่บางครั้งเราต้องติดต่อประสานงานในตัวเมืองเชียงราย ซึ่งระยะทางจะค่อนข้างไกล เวลาเจองานเร่งๆ จักรยานก็จะไม่ฟังก์ชั่นกับงาน แม้จะฟังดูดีแต่ทำจริงๆอาจจะยาก เพราะมีเรื่องเวลาเข้ามาเป็นตัวกำหนด แต่โดยปกติก็จะปั่นจักรยานไปธุระ-ซื้อของในระยะใกล้ๆบ้าน ซึ่งทำเป็นประจำ และคิดว่าถ้าทุกๆบ้านทำแบบนี้ก็จะสร้างเสริมชุมชนจักรยานได้เพิ่มขึ้น”
ประการสำคัญที่จะทำให้ประชาชนหันมาใช้จักรยานในชีวิตประจำวันมากขึ้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น-หน่วยงานรัฐทั้งระดับจังหวัดและท้องถิ่น ต้องให้การสนับสนุน กระตุ้นส่งเสริมอย่างจริงจัง ซึ่งด้วยศักยภาพทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดเชียงรายเป็นเมืองธรรมชาติที่สวยงาม อากาศดี สิ่งแวดล้อมดี ภาครัฐควรกำหนดทิศทางเมืองใหม่ ให้เน้นเมืองที่อยู่กับธรรมชาติมากกว่าอยู่กับความเจริญเติบโต
เขาบอกว่า การส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อมของจังหวัดเชียงรายยังมีน้อย ผู้บริหารท้องถิ่นยังไม่ค่อยให้ความสำคัญมากนัก โครงสร้างพื้นฐานที่จะส่งเสริมการปั่นจักรยานยังไม่มี ซึ่งเชียงรายมีต้นทุนในเรื่องของแหล่งท่องเที่ยว ที่สามารถพัฒนาเป็นเส้นทางปั่นจักรยานได้หลายแห่ง
“การปั่นจักรยานนั้น ถ้าราใช้เวลาเกินพอดี เกินขอบเขตของร่างกายก็จะเป็นการทรมานร่างกาย การปั่นต้องกำหนดสติอยู่ที่รอบจักรยาน บางครั้งขณะปั่นเราก็คิดงานใหม่ๆออกขึ้นมา คิดว่าจะปั่นจักรยานไปตลอดชีวิต เพราะรู้สึกว่าเป็นชีวิตของเรา”
ช่วงปลายชีวิตในวัย 52 ปี เขาได้รู้อย่างหนึ่งว่าที่แท้จักรยานคือชีวิต เป็นความลงตัวของชีวิต สุขภาพและสิ่งแวดล้อม จักรยานคือ ขาที่สาม ที่ให้ความเป็นอิสระและทำให้เขาได้สัมผัสและอยู่กับธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาชอบมากที่สุด..ได้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น