Interview
 เนตร  สงวนสัตย์  เมื่อชายวัย 70 ปี  ไม่เคยคิดหยุดปั่น
  โดย  สุธิดา  สุวรรณกันธา
 
     
       ด้วยเพราะเบื่อรถติด เบื่อขึ้นรถเมล์ ทั้งสองเหตุผลนี้ทำให้คุณลุง “เนตร  สงวนสัตย์” ตัดสินใจหันมาปั่นจักรยานไปทำงานตั้งแต่ปี 2524 เมื่อครั้งที่ยังเป็นพนักการรถไฟแห่งประเทศไทย 
       เมื่อได้นั่งบนอานและออกแรงปั่น คุณลุงบอกว่ารับรู้ได้ถึงความเป็นอิสระเสรี ชีวิตเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากเดิมที่ต้องเดินทางโดยรถเมล์จากบ้านหลังเก่าย่านโพธิ์สามต้น ฝั่งธนฯ มาถึงที่ทำงานย่านมักกะสัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1.20 ชั่วโมง แต่ปั่นจักรยานในเส้นทางเดียวกัน ปลายทางเดียวกัน ใช้เวลาเดินทางเพียง 40 นาทีเท่านั้น
        ปฏิบัติเช่นนี้ทุกวันจนกลายเป็นความเคยชินและผูกพันกับสองล้อแบบแยกกันไม่ออก  มิใช่เพียงการปั่นเพื่อออกกำลังกาย แต่เป็นการปั่นในชีวิตประจำวัน 
        ไลฟ์สไตล์ของคุณลุงเนตรจึงมีจักรยานไปด้วยทุกหนแห่ง 
        บนเส้นทางปั่นจักรยานของคุณลุงเนตรตลอดระยะเวลา 31 ปี มีความสุขทุกครั้งที่ได้ปั่น ได้ยิ้มเมื่อมองเห็นความสวยงามสองข้างทาง 
        “ถ้าอยู่บ้านวันธรรมดา ลุงก็จะปั่นไปซื้อของ ไปตลาด ไปทำธุระ เฉลี่ยวันหนึ่งก็ประมาณ 20 กิโลเมตร วันเสาร์ – อาทิตย์ ก็จะออกไปรอบปริมณฑล ไป-กลับ ก็ประมาณ 100 กิโลเมตร ลุงปั่นมาแล้ว 73 จังหวัด ไกลแค่ไหนลุงก็ไป”
         คุณลุงเนตร บอกว่า การปั่นจักรยานเป็นการออกกำลังกายแบบ “แอโรบิค” ไม่กระตุกกระชาก ไม่กระแทกกระทั้น ค่อย ๆ สร้างความแข็งแกร่งให้กล้ามเนื้อ ค่อย ๆ สร้างความแข็งแรงให้กับอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย ทำให้ร่างกายแข็งแรง สุขภาพดี ไม่จำเจติดอยู่กับกรอบขอบเขตของสนามเหมือนกีฬาชนิดอื่น ๆ 
         ขณะที่ปั่นจักรยานออกกำลังกายไปตามถนนต่าง ๆ ได้ท่องเที่ยว  ได้เห็นสรรพสิ่งสองข้างทางอย่างใกล้ชิดชัดเจน ผ่านไปช้า ๆ ได้รับความเพลิดเพลิน ได้พบปะผู้คน ได้รู้จักและเป็นเพื่อนกับชาวจักรยานทั่วประเทศ ทำให้ไม่เบื่อ ปั่นจักรยานออกกำลังกายได้ครั้งละนาน ๆ สุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง ได้รับความภูมิใจที่ตัวเองปั่นจักรยานไปได้ไกลเพียงนั้น (สุขภาพดีและความภูมิใจ ไม่มีขาย มีเงินร้อยล้าน พันล้าน หาซื้อไม่ได้ อยากได้ต้องทำเอง) และทุกวันนี้ยังใช้จักรยานเป็นพาหนะไปทำภารกิจในชีวิตประจำวันต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี รถไม่ติด ประหยัดค่าใช้จ่าย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 
       
 
 “ระหว่างทางที่ปั่นไป ได้ความสุขทางตา ได้เห็นสิ่งต่างๆสองข้างทาง ร่างกายเรารับการทรมานจากการปั่นไปไกลๆ ถ้าเราทนได้ แต่เรามีความสุข เราก็จะไม่รู้สึกว่าทรมาน ผลลัพธ์คือการได้สิ่งดีๆ เมื่อจบทริปก็มีความสุข ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย”
         คุณลุงเนตร บอกว่า ปั่นจักรยานมาแล้วเหนือจรดใต้ ตะวันออก ตะวันตก อีสาน ขึ้นเขาลงห้วยรวมแล้ว 73 จังหวัด 
ทริปต่างประเทศไปมาแล้วก็มาก เคยขึ้นรถไฟไปประเทศสิงคโปร์ ซื้อจักรยาน 1 คัน ราคา 17,000.- บาท ปั่นเที่ยวในประเทศสิงคโปร์ 3 วัน แล้วปั่นจากชายแดนสิงคโปร์ เข้าประเทศมาเลเซีย จนถึง “บัตเตอร์เวิร์ด” ระยะทางประมาณ 800 กิโลเมตร รวมเวลา 10 วัน แล้วขึ้นรถไฟกลับกรุงเทพฯ
         นอกจากนี้ คุณลุงยังเคยนำรถจักรยานขึ้นเครื่องบินไปลงที่เมือง “กาฐมาณฑุ” ประเทศเนปาล ปั่นเที่ยวในเมือง 2 วัน แล้วปั่นไปถึงเมือง “โพคลา” ใช้เวลา 3 วัน ปั่นผ่านเขตแดนเนปาล เข้าประเทศอินเดีย เดินทางด้วยรถไฟบ้าง รถยนต์บ้าง 
 ทั้งยังเคยนำรถจักรยานขึ้นเครื่องบินไปลงที่เมือง “ฮานอย” เหนือสุดของประเทศเวียดนาม ปั่นรถจักรยานเที่ยวอยู่ 1 วัน นอนค้าง 2 คืน แล้วปั่นออกจากเมืองฮานอย เดินทางถึงเมือง “โฮจิมินซิตี้” โดยใช้เวลาเดินทาง 15 วัน รวมระยะทาง 1,800 กิโลเมตร
       “ปัจจุบันน่าจะปั่นเกิน 100,000 กิโลเมตรไปแล้ว จากประสบการณ์ที่สั่งสมมาแล้วทั้งหมดทั้งสิ้นนั้น ทำให้ลุงคิดว่า ลุงมีความสามารถปั่นจักรยานรอบโลกได้” 
         ปัจจุบันคุณลุงเนตรในวัย 70 ปี สามารถปั่นจักรยานในทางราบได้วันละ 100 กิโลเมตรมีแรงบันดาลใจอันแรงกล้าว่า ก่อนตายขอถวายชีวิตเพื่อ“ปั่นจักรยานรอบโลก” ตามความตั้งใจ ใฝ่ฝัน มุ่งมั่นและฟันฝ่าที่จะทำให้สำเร็จให้จงได้

        ทั้งยังยืนยันหนักแน่นว่า จะปั่นจักรยานไม่หยุด และไม่เคยคิดหยุดปั่นแม้แต่วันเดียว

 

banner ด้านขวา 1
banner ด้านขวา 2
Peenfa Creation