Interview
ชีวิตช้าๆที่เมืองลับแล
โดย    สุธิดา  สุวรรณกันธ

     
         “เมืองลับแล”
ในวาบความคิดของฉันคือ เมืองที่ลึกลับ ห่างไกล เข้าถึงยาก แต่เมื่อรู้ว่า ณ เมืองแห่งนี้ดำเนินวิถีชีวิตด้วยการปั่นจักรยาน หัวใจจึงสั่งให้ต้องเดินทางไปค้นหาความลึกลับอย่างไม่รีรอ
      อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ อาจเป็นอำเภอที่ห่างไกลจากความคิดของใครหลายๆคนรวมทั้งฉัน ที่จะเยื้องย่างเดินทางเข้าไปย่ำเยือน ทั้งๆที่ระยะทางอยู่ห่างจากตัวเมืองอุตรดิตถ์เพียง 6 กิโลเมตรเท่านั้น
 
 
   
      นอกจากเป็นแหล่งผลิตผลไม้เลื่องชื่ออย่างทุเรียนหลงลับแลที่แสนอร่อยและแสนแพงแล้ว เมืองเล็กๆแห่งนี้ยังมีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและมีเสน่ห์ด้วยจักรยานที่ชาวบ้านปั่นกันในชีวิตประจำวัน และกำลังได้รับการสนับสนุนก้าวสู่การเป็นเมืองจักรยานในอนาคต 
       หลายสิ่งหลายอย่างในความเป็นเมืองลับแลจึงสามารถถูกยกขึ้นชั้นเป็นเมืองน่าอยู่ อยู่เย็นและอยู่ยืน และเป็นเมืองท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งอย่างมิอาจมองข้าม 
       ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้บริหารเทศบาลตำบลศรีพนมมาศ อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ให้ความสำคัญเรื่องเมืองนิเวศและเมืองคาร์บอนต่ำ ชูเป็นยุทธศาสตร์หลักในการบริหารเมือง จึงนำมาสู่นโยบายส่งเสริมการพัฒนาเมืองจักรยาน ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 จำนวน 4,000,000 บาท เพื่อนำมาซื้อจักรยานจำนวน 1,000 คัน
 
   
      นายพฤหัส  ขาวสัก  รองนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลศรีพนมมาศ เล่าให้ฟังว่า โครงการเมืองจักรยานของอำเภอลับแลเกิดขึ้นจากแนวคิดของ นายเจษฎา  ศรุติสุต  นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลศรีพนมมาศ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของเมืองนิเวศ เมืองคาร์บอนต่ำ ที่ต้องการให้เมืองลับแลเป็นเมืองสีเขียวและให้ประชาชนในพื้นที่หันมาใช้จักรยานในการเดินทางสัญจรในชีวิตประจำวัน เพื่อลดการใช้รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ซึ่งจะช่วยลดมลภาวะที่มีต่อเมือง ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน 
     ทั้งนี้ เทศบาลฯกำหนดให้โครงการจักรยานเมืองลับแลเป็นนโยบายหลักและได้รับความเห็นชอบจากจังหวัดอุตรดิตถ์ที่สนับสนุนและผลักดันโครงการ โดยเมื่อเดือนกันยายน 2555 กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 ให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อพัฒนาโครงการจักรยานเมืองลับแลรวมทั้งสิ้น 4,000,000 บาท 
     สำหรับงบประมาณจำนวน 4,000,000 บาทดังกล่าว ได้นำมาจัดสรรซื้อจักรยานจำนวน 2,000,000 บาทจำนวน 1,000 คัน และงบประมาณอีก 2,000,000 บาท ได้นำไปพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ เลนจักรยาน จุดจอดจักรยาน ป้ายสัญลักษณ์ และปรับสภาพภูมิทัศน์เส้นทางจักรยานต่างๆในแต่ละชุมชน เป็นต้น 
 
 
     โครงการจักรยานเมืองลับแลได้รับความร่วมมือจากประชาชนทุกพื้นที่ทั้ง 6 ชุมชน ได้มีการทำประชาคมหลายครั้งเพื่อรับฟังความเห็นจากประชาชนและทุกภาคส่วน ซึ่งมีประชาชนที่เข้าร่วมโครงการยืมจักรยานไปใช้ในชีวิตประจำวันจำนวน 700 คัน จำนวน 700 ครัวเรือน จากครัวเรือนทั้งหมด 1,108 ครัวเรือน ส่วนจักรยานอีก 300 คัน จัดสรรโครงการยืมจักรยานเรียน ให้นักเรียนตามโรงเรียนต่างๆในเขตเทศบาลฯ จำนวน 100 คัน จัดสรรให้ส่วนราชการในเขตเทศบาลฯเข้าร่วมโครงการยืมจักรยานจำนวน 40 คัน ส่วนราชการในจังหวัดอุตรดิตถ์จำนวน 70 คัน จัดสรรให้นักท่องเที่ยวยืมอีกจำนวน 70 คัน ที่เหลือจัดสรรให้กับผู้บริหารและพนักงานของเทศบาลฯ 
     โดยโครงการยืมจักรยานประชาชนทุกภาคส่วนทุกหน่วยงานจะมีสัญญายืม ซึ่งมีเงื่อนไขคือ 1.ทุกๆ 6 เดือนผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องนำรถจักรยานมาตรวจเช็คสภาพ 2.ห้ามมีการดัดแปลงหรือเปลี่ยนสีจักรยาน 3.หากมีการทำธุรกรรมในเขตเทศบาลให้ร่วมกันปั่นจักรยาน 4.จักรยานทุกคันจะมีป้ายทะเบียนติดอยู่ท้ายรถ ระบุชื่อย่อของชุมชนตามด้วยบ้านเลขที่ เช่นเดียวกับโครงการจักรยานยืมเรียน จะมีป้ายทะเบียนระบุว่า นักเรียน 1 หมายถึงคันที่ 1 หรือหน่วยราชการเช่น สถานีตำรวจ จะระบุป้ายทะเบียนคือ ตำรวจ 1 เป็นต้น 
     ประชาชนส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการยืมจักรยาน เริ่มปั่นจักรยานไปติดต่อธุระ ทำงานหรือไปจับจ่ายตลาดกันมากขึ้นในช่วงเช้าและเย็น และทุกวันพุธหน่วยงานราชการจะปั่นจักรยานมาทำงาน ซึ่งคาดว่าปริมาณการใช้จักรยานจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2557 เทศบาลฯกำลังออกแบบเส้นทางจักรยานหรือไบค์เลนในเส้นทางหลัก ส่วนเส้นทางในเขตเทศบาลฯบางจุดถนนค่อนข้างแคบไม่สามารถทำไบค์เลนได้ แต่จะมีสัญลักษณ์ทางจักรยานเพื่อร่วมแบ่งปันการใช้เส้นทาง
 
 
     
      สำหรับแผนการพัฒนาเส้นทางจักรยานในปี 2557 จะดำเนินการเพื่อรองรับการท่องเที่ยวโดยจักรยาน ซึ่งปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวที่เมืองลับแลเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็เตรียมแผนพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวโดยจักรยานอย่างยั่งยืนรอบเขตเทศบาลฯ อาทิ เส้นทางชมวิถีชีวิตชุมชน ถนนสายอาหาร ถนนชมธรรมชาติ-วิถีเกษตร เป็นต้น 
      ทุกวันนี้แผนงานหลักของเทศบาลตำบลศรีพนมมาศ ยังคงรณรงค์ส่งเสริม ให้ความรู้เรื่องจักรยานกับประชาชนในทุกชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนทุกภาคส่วนหันมาใช้จักรยานในชีวิตประจำวันให้เกิดความเคยชิน และตั้งเป้าให้เมืองลับแลเป็นเมืองจักรยานในอนาคต
 
       ชีวิตช้าๆที่เมืองลับแล ช่างเรียบง่ายและมีความสุขเหลือเกิน
banner ด้านขวา 1
banner ด้านขวา 2
Peenfa Creation