เรื่อง/ภาพ Sutida
แม้ภาพของ “ปักกิ่ง” เมืองหลวงแห่งแดนมังกร สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้มีจำนวนรถยนต์เข้ามายึดครองพื้นผิวถนนทั่วทั้งเมือง โดยสถิติจำนวนรถยนต์เพิ่มขึ้นมากกว่า 4 ล้านคันในช่วงเวลาเพียง 1 ทศวรรษ ส่งผลให้ปักกิ่งในทุกๆวันกลายเป็นเมืองรถติด และเคยติดอันดับต้นๆของเมืองรถติดมากที่สุดในโลก
ความเปลี่ยนแปลงจากเมืองที่คลาคล่ำไปด้วยจักรยาน เริ่มมีอัตราการใช้จักรยานของชาวเมืองลดลงเรื่อยๆภายหลังการปฏิรูปเศรษฐกิจ ชนชั้นกลางมีฐานะร่ำรวยขึ้น จึงหันมาซื้อรถยนต์แทนการใช้จักรยานอันเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมนับแต่อดีต
เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา ฉันได้มีโอกาสเดินทางไปทำงานที่กรุงปักกิ่ง 1 สัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูหนาวของปักกิ่ง นอกจากที่ฉันได้เห็นสภาพถนนที่แออัดเต็มไปด้วยรถยนต์แล้ว อีกภาพที่เห็นก็คือ ชาวปักกิ่งฝ่าความหนาวเย็น ปั่นจักรยานกันบนท้องถนนอย่างค่อนข้างหนาตา
เพ็ญ ไกด์สาวชาวจีน ที่อาศัยอยู่ในกรุงปักกิ่ง เล่าว่า เมื่อ 3 ปีก่อนรัฐบาลจีนได้เริ่มมีความพยายามแก้ไขปัญหาวิกฤติจราจรของกรุงปักกิ่งอย่างจริงจัง โดยออกมาตรการทางกฎหมายคือ กำหนดวันและกำหนดเลขทะเบียนรถยนต์ที่จะเข้ามาภายในเขตเมือง ซึ่งกำหนดเป็นทะเบียนเลขคู่-เลขคี่ วันละ 2 เบอร์ หากมีการขับรถออกมาบนถนนผิดเบอร์-ผิดวัน ถือว่าผิดกฎหมาย และจะถูกปรับเป็นเงินจำนวน 200 หยวน
นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้เร่งวางโครงข่ายรถไฟใต้ดินทั่วกรุงปักกิ่ง โดยวางเป็นโครงข่ายเชื่อมในเขตเมือง (City Link) และโครงข่ายเส้นทางจากนอกเขตตัวเมืองเข้าสู่ภายในตัวเมืองชั้นใน เพื่อให้ประชาชนหันมาใช้บริการขนส่งมวลชนให้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดปริมาณการใช้รถยนต์ ซึ่งปัจจุบันรถไฟใต้ดินในกรุงปักกิ่งให้บริการรวมทั้งสิ้น 19 สาย ราคาตั๋วอยู่ที่ 3-7 หยวน และขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างรถไฟใต้ดินเพิ่มอีกจำนวนหลายสาย
อีกหนึ่งความพยายามที่สำคัญ ที่รัฐบาลจีนมุ่งแก้ปัญหาการจราจรของกรุงปักกิ่งก็คือ การรณรงค์ส่งเสริมให้พลเมืองหันกลับมาใช้จักรยานในชีวิตประจำวันกันอีกครั้ง ด้วยการออกนโยบาย “โครงการเช่าจักรยานสาธารณะ” และตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2558 จะทำให้พลเมืองกลับมาใช้จักรยานให้ได้ในอัตรา 1 ใน 4 ของประชากรในกรุงปักกิ่งที่มีอยู่ถึง 17 ล้านคนในปัจจุบัน
โดยโครงการเช่าจักรยานสาธารณะดังกล่าว รัฐบาลจีนก็ตั้งเป้าชัดเจนว่าภายในปี 2558 จะจัดตั้งศูนย์เช่าจักรยานสาธารณะให้ได้ 1,000 แห่ง จำนวนรถจักรยานให้เช่าราว 50,000 คัน มีจุดให้บริการอยู่ในย่านสำคัญๆ เช่น ย่านธุรกิจการค้า ย่านที่อยู่อาศัยในเขตตัวเมือง และสถานีรถไฟใต้ดิน เป็นต้น โดยจะไม่คิดค่าบริการเช่าจักรยานสาธารณะในชั่วโมงแรก แต่จะเริ่มคิดค่าบริการในชั่วโมงต่อไป ในอัตราชั่วโมงละ 1 หยวน
ไกด์สาวชาวจีน เล่าต่อว่า ด้วยมาตรการและนโยบายต่างๆที่รัฐบาลพยายามแก้ปัญหารถติดของกรุงปักกิ่ง สังเกตได้ว่าแม้รถจะยังติดอยู่ แต่ถือเป็นปริมาณที่ลดลงจากเมื่อ 3 ปีก่อน ขณะเดียวกันในเขตตัวเมืองก็เริ่มเห็นการใช้จักรยานของชาวปักกิ่งในการเดินทางเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการสัญจรในระยะทางที่ไม่ไกลมากนัก เช่น จากบ้านไปที่ทำงาน หรือเพื่อปั่นไปขึ้นรถไฟใต้ดิน
ฉันเดินทางไปยังถนนหลายสายในกรุงปักกิ่ง ทั้งย่านศูนย์กลางเศรษฐกิจและย่านที่อยู่อาศัย ฉันพบว่าการปั่นจักรยานในกรุงปักกิ่งไม่ใช่สิ่งยากลำบากอะไรนัก แต่กลับค่อนข้างสะดวกและปลอดภัย เนื่องจากถนนสายหลักและสายรองมีการจัดช่องทางเฉพาะจักรยานไว้อย่างชัดเจน เป็นช่องทางสำหรับจักรยานที่ใช้แรงขาปั่นและจักรยานไฟฟ้าเท่านั้นทั้งยังมีต้นไม้ให้ร่มเงาตลอดแนวริมถนน จึงไม่ร้อนแม้ปั่นตอนกลางวันที่มีแสงแดด
การปั่นจักรยานของชาวปักกิ่งเป็นการปั่นในชีวิตประจำวันจริงๆเพื่อเดินทางไปทำงาน ไปเรียนหนังสือ หรือไปธุระ หรือเดินทางต่อไปขึ้นรถไฟใต้ดิน เป็นระยะการเดินทางภายในเขตตัวเมืองเชื่อมจากถนนหนึ่งไปอีกถนนหนึ่ง ในรัศมีที่ใช้เวลาในการเดินทางไม่เกิน 30 นาที
จักรยานที่ชาวปักกิ่งใช้ก็คือ จักรยาน city bike ธรรมดา ซึ่งแตกต่างจากเมืองไทยในหลายๆเมืองที่ผู้คนออกมาปั่นจักรยานบนท้องถนนเพี่อออกกำลังกายหรือเพื่อการท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่
สองขาของชาวปักกิ่งที่ออกแรงปั่นจักรยานไปบนท้องถนน ไม่ได้บ่งบอกถึงความรีบเร่งเลยแม้แต่น้อย จักรยานถูกเคลื่อนไปอย่างช้าๆบนช่องถนนเฉพาะที่มีความปลอดภัย ท่ามกลางอากาศที่หนาวจัดราว 3-4 องศา
เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า วัฒนธรรมการใช้จักรยานของกรุงปักกิ่งกำลังหวนกลับคืนมา และมีแนวโน้มจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นการคัมแบ็คที่เพิ่มความโรแมนติกและความน่าอยู่ให้กับเมืองอย่างน่าชื่นชม