เรื่อง/ภาพ Sutida
วันปลอดรถโลก (World Car Free Day) ในวันที่ 22 กันยายน มีจุดเริ่มในกลุ่มประเทศยุโรป ห้วงแห่งวิกฤติน้ำมันในต้น ค.ศ. 1970 ซึ่งได้ทำให้เกิดการรณรงค์ “อยู่ในเมืองโดยไม่ใช้รถ” เพื่อลดปัญหามลพิษทางอากาศ ทางเสียง ปัญหาการจราจร ลดการเกิดอุบัติเหตุ และลดการใช้พลังงาน วันนี้ของทุกปีผู้คนทั่วโลกจึงร่วมแสดงพลังเพื่อแสดงให้เห็นทางเลือกนอกเหนือจากรถยนต์
สำหรับประเทศไทยคือหนึ่งในหลายประเทศทั่วโลก ที่ร่วมและเริ่มรณรงค์ Car Free Day ขึ้นในวันที่ 22 กันยายน 2546 และเคลื่อนไหวกิจกรรมนี้มาต่อเนื่องทุกๆปี
กล่าวได้ว่า ปัจจุบันเมืองขนาดกลางและขนาดใหญ่หลายเมืองของประเทศไทย มีการเติบโตของภาคเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ขณะที่การขยายตัวของเมืองในแนวราบ ทำให้เกิดความถี่ในการใช้ที่ดินในวงกว้าง (Urban Sprawl) ทว่า กลับขาดแผนแม่บทด้านการขนส่งและจราจร ส่งผลให้ประชากรในเมืองหันไปใช้ยานพาหนะส่วนตัว ทั้งรถยนต์และจักรยานยนต์เพิ่มมากขึ้น นำมาสู่ความแออัดของพื้นที่ตัวเมืองจากปัญหาการจราจรติดขัด และปัญหามลพิษ
ทางเลือกในการใช้ยานพาหนะสำหรับวัน Car Free Day แทนการใช้รถยนต์ ชัดเจนสุดและสามารถทำได้แบบไม่ยากลำบากเลยก็คือ จักรยานและการเดิน
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 13 ปีที่ประเทศไทยร่วมออกมารณรงค์ในวันนี้ ได้เห็นภาพผู้คนในหลายเมือง หลายจังหวัดออกมาปั่นจักรยานในกิจกรรม-อีเว้นท์ที่จัดขึ้น ซึ่งในข้อเท็จจริงวันนี้เป็นเพียงวันแห่งสัญลักษณ์ (Day of symbols) และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราได้คิดต่อว่า ในวันต่อๆไปจะใช้ทางเลือกอื่นในการเดินทางแทนการใช้รถยนต์หรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่า จักรยานและการเดินจะมีความหมายมากขึ้นหากเราไม่เพียงออกมาปั่นหรือเดินในวันแห่งสัญลักษณ์นี้เพียงวันเดียวเท่านั้น
ด้านหนึ่ง ที่ทำให้หลายๆเมืองของประเทศไทยยังมีความถี่ในการใช้จักรยานหรือเดินค่อนข้างน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศในแถบยุโรป ด้วยเพราะความแตกต่างใน 5 ปัจจัยสำคัญ
ประการแรก สภาพแวดล้อม สิ่งแวดล้อม องค์ประกอบของความเป็นเมืองที่แตกต่างกัน เช่น สภาพภูมิอากาศ ความร่มรื่นของต้นไม้ในเมือง และการจัดสรรพื้นที่ๆเอื้อต่อการใช้จักรยานและการเดิน เป็นต้น
ประการที่สอง นโยบายของภาครัฐ (Policy Making) ทั้งส่วนกลาง ภูมิภาคและท้องถิ่น เป็นหนึ่งประเด็นสำคัญที่เป็นตัวชี้และกำหนดทิศทางว่าในระดับนโยบายต้องการให้เมือง-ชุมชนขับเคลื่อนไปในรูปแบบไหน
ประการที่สาม โครงสร้างพื้นฐาน ความปลอดภัยในการใช้ถนน และระบบขนส่งมวลชนกับจักรยานและการเดินของประเทศไทยยังไม่เชื่อมโยงอย่างสมบูรณ์เป็นระบบ
ประการที่สี่ ค่านิยม วัฒนธรรมและพฤติกรรมในการเดินทาง
ประการที่ห้า การรณรงค์ที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง
จริงๆแล้ว การทอดน่องท่องเมืองและปั่นจักรยานนั้น มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตผู้คนในเชิงสังคม เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และศิลปวัฒนธรรมของพลเมืองแห่งเมืองที่น่าอยู่อย่างยั่งยืนแบบแยกกันไม่ออก การเดินและการปั่นจักรยานจึงเป็นการสัญจรอีกทางเลือกที่สำคัญยิ่งในการเคลื่อนที่ๆยั่งยืน (Green Mobility)
เมื่อนโยบายทุกระดับมีความใส่ใจและให้ความสำคัญร่วมกันในการพัฒนาส่งเสริมเมืองแห่งการเดินและปั่น และภาคพลเมืองมีหัวใจสีเขียวและแพร่ขยายวัฒนธรรมแห่งการเดินและปั่นในชีวิตประจำวัน
เมื่อนั้นเมืองแต่ละเมืองจะกลายเป็นเมืองนิเวศที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน ด้วยชีวิตที่ช้าลง (Slow Life) แต่มีความหมายมากขึ้น หากทำให้ทุกวันเป็น Car Free Everyday