Ride a bike Column
เมืองของเรา : ขนคน-ไม่ขนรถ (1)

เรื่อง     มองเมือง/ชาจีน

           

            ห้วงเวลานี้ หลายๆเมืองในภูมิภาคของประเทศไทย กำลังมีความพยายามขับเคลื่อนระบบขนส่งมวลชนกันอย่างสุดตัว ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟฟ้าขนาดเบาโมโนเรล (Monorail) เมืองหาดใหญ่ โครงการรถรางเบาระดับผิวถนน (Tram) เมืองเชียงใหม่ รวมถึง Tram เมืองภูเก็ต ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นการวางรูปแบบการเดินทางในเมือง เพื่อหลีกลี้-ดิ้นหนีการจราจรติดขัดที่เริ่มเข้าขั้นวิกฤติรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆในทุกหัวเมือง

            เมื่อย้อนรอยดูประวัติศาสตร์ระบบขนส่งสาธารณะ (Public Transportation or Mass Transit) ครั้งแรกๆ ของโลก เริ่มต้นโดยชาวโรมัน ซึ่งให้ระบบบริการยานพาหนะที่รับจ้างขนส่งผู้คนและสัมภาระในรัชสมัยของพระเจ้าออกุสตุส (Augustus) จักรพรรดิพระองค์แรกแห่งโรมัน เมื่อ 27 ปีก่อนคริสตกาล หรือราว 2,042 ปีมาแล้ว และพระเจ้าไธเบริอุส (Tiberius) จักรพรรดิองค์ที่ 2 พาหนะที่ใช้ในการขนส่งมีลักษณะเป็นรถบรรทุกแบบสองล้อหรือสี่ล้อเพื่อให้บริการรับส่งผู้โดยสารตามที่พักรายทางโดยกำหนดให้มีสถานีย่อยทุกระยะทาง 5-6 ไมล์

            รถไฟฟ้าระบบรางในบทความของ ฐาปนา  บุญประวิตร จัดไว้เป็น 5 ประเภท ได้แก่

            1) รถไฟฟ้าขนส่งขนาดใหญ่ (Commuter Rail/High Speed Rail) ที่ใช้วิ่งขนส่งระหว่างเมืองและภาค  2) รถไฟฟ้าขนส่งขนาดกลาง (Rapid Transit/Metropolitan Line) ความเร็วรถน้อยกว่ารถไฟฟ้าขนส่งขนาดใหญ่ เป็นรถไฟฟ้าที่ใช้ขนส่งสัญจรระหว่างเมือง ภายในเมือง และระหว่างย่าน ใช้ความเร็วระดับกลางและใช้ระบบรางแยกออกจากการสัญจรอื่น เช่น เป็นรางยกระดับและรางอุโมงค์ใต้ดิน   3) รถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit) เป็นรถไฟฟ้าขนาดเล็กที่วิ่งบริการเชื่อมต่อระหว่างย่านในเขตเมือง ระบบนี้สามารถวางรางวิ่งร่วมกับยวดยานอื่นๆ บนถนนได้ หรือจัดวางรางให้เป็นการเฉพาะเช่นเดียวกับ Rapid Transit

           4) รถไฟฟ้ารางเบาขนาดเล็ก (Tram) เป็นรถไฟฟ้าขนาดเล็กที่รู้จักกันในนามของ Streetcar หรือ Trolley มีตู้พ่วงจำนวน 3 ตู้ (หรือมากกว่า) ประเภทนี้ใช้ความเร็วต่ำ สามารถวางรางวิ่งร่วมกับรถยนต์บนผิวถนนได้เลย 5) รถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) เป็นรถไฟฟ้าแบบรางยกระดับหรือลอยฟ้า ใช้เชื่อมต่อระหว่างสถานีบริการขนาดใหญ่ หรือในพื้นที่ซึ่งมีข้อจำกัดด้านกายภาพมาก เช่น เขตทางแคบ หรือผ่านตรอกซอกซอยของละแวกย่านชุมชน

            อย่างไรก็ดี รถไฟฟ้าระบบรางที่มีอยู่ทั่วโลก มีการจัดประเภทโดยแบ่งตามขีดความสามารถในการขนส่งผู้โดยสารไว้เป็น 2 ประเภทหลัก (การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย) ได้แก่

           1) ระบบขนส่งมวลชนเบา (Light Rail Transit System, LRT) เป็นระบบขนส่งมวลชนเบาที่ขนส่งทางราง โดยขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าและวิ่งบนรางเหล็ก มีทั้งที่วิ่งบนท้องถนนและบนเขตทางของตัวเองโดยเฉพาะ มีความจุของผู้โดยสารประมาณ 20,000 – 40,000 คน ต่อชั่วโมงต่อทิศทาง

            2) ระบบขนส่งมวลชนหนัก (Heavy Rail Transit System, HRT) เรียกกันทั่วไปว่ารถไฟฟ้าขนส่งมวลชนหรือ “รถไฟฟ้า” เป็นระบบหนึ่งของยานพาหนะประเภทขนส่งมวลชนที่มีเส้นทางเป็นรางอยู่ใต้ดินหรือรางยกระดับ โดยทั่วไปอาจจะเรียกว่า รถไฟฟ้าใต้ดิน (Underground หรือ Subway) หรือระบบรางในอุโมงค์ (Tube) หรือรถไฟลอยฟ้า (Elevated rail/Sky train) เป็นการขนส่งตามเส้นทางที่ไม่เปลี่ยนแปลง และเป็นไปตามตารางเวลา สำหรับความจุของผู้โดยสารประมาณ 40,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง

            การมุ่งส่งเสริมการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งภายในเขตเมือง ด้วย “ระบบขนส่งมวลชนเบาระบบราง” สามารถตอบสนองแนวคิดและหลักการ “มุ่งขนคนให้ได้มากกว่าขนรถ” ซึ่งเป็นปรากฏการณ์และปัญหาของทุกเมืองขนาดกลาง-ใหญ่ในทุกวันนี้ที่ภาครัฐ (ส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น) ยังคงดำเนินนโยบายขนรถมากกว่าขนคนอยู่

            อาจกล่าวได้ว่า การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนและการขนส่งสาธารณะ (Public Transportation) ของประเทศไทยในเขตเมืองในระยะที่ผ่านมา มุ่งแต่พัฒนาการขนส่งคนด้วยรถยนต์เป็นหลัก ได้แก่ การขนส่งด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล และการขนส่งสาธารณะด้วยรถเมล์ แล้วเสริมบริการด้วยการขนส่งรูปแบบเสริม อาทิ รถสองแถว รถตู้ รถตุ๊กๆ รถสามล้อเครื่อง รถโค้ชนักท่องเที่ยว รถแท็กซี่ รถรางล้อยาง และรถเมล์ด่วนพิเศษ (BRT: Bus Rapid Transit) เป็นต้น

            โดยทั้งหมดนั้น ก็ยังเน้นไปที่การขนส่งด้วยรถยนต์อยู่นั่นเอง (โดยมีรถไฟชานเมือง และเรือเมล์เป็นระบบรอง) ซึ่งนอกจากไม่ช่วยบรรเทาปริมาณจราจรจากท้องถนนในภาพรวมแล้ว ยังมีแต่เพิ่มความจอแจแออัดมากขึ้นเรื่อยๆ ก่อมลพิษ และต้นทุนพลังงาน รวมถึงภาษีในการขยายโครงข่ายถนนออกไปเรื่อยๆ ในขณะที่อัตราความเร็วในชั่วโมงเร่งด่วนลดต่ำลงเรื่อยๆ สวนทางกับงบประมาณและปริมาณพาหนะแบบสันดาปด้วยเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นทุกปี

(ติดตามอ่านเมืองของเรา : ขนคน-ไม่ขนรถ ตอนที่ 2 ที่จะว่าด้วยเรื่อง พัฒนาการของการขนส่งระบบราง)

 

เครดิตภาพ

โครงการศึกษาวิจัยความเหมาะสมและอกแบบรายละเอียดระบบขนส่งมวลชนเชียงใหม่ ลำพูนและลำปาง โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

banner ด้านขวา 1
banner ด้านขวา 2
Peenfa Creation