เรื่อง/ภาพ Sutida
การเดินทางในช่วงฤดูหนาว เป็นช่วงเวลาพิเศษช่วงเวลาหนึ่งสำหรับฉัน โดยเฉพาะการที่ได้ย่ำเดินไปในภูมิประเทศที่โอบล้อมด้วยภูเขาและธรรมชาติที่งดงาม บรรยากาศห้วงเวลานี้จึงโรแมนติกยิ่งนัก
ดั่งเช่นเส้นทาง R3A ที่ฉันรอนแรมอยู่นานถึง 7 วัน ทุกๆเมืองที่ผ่านพบ อาจดูเป็นเมืองธรรมดาๆในสายตาใครต่อใคร แต่เป็นเมืองธรรมดาที่พิเศษสำหรับฉัน และในใจลึกๆของฉันนั้น อยากเห็นความเป็นเมืองจักรยานในหลายๆเมืองของประเทศจีน ซึ่งการมาทำงานบนเส้นทาง R3A ในครั้งนี้ ฉันจึงตามค้นหาจักรยานไปด้วยพร้อมๆกัน
ฉันได้รับเกียรติอย่างสูงจากสถานกงสุลใหญ่จีน ประจำจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับสำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 กรมประชาสัมพันธ์ ให้ร่วมทริปสำรวจเส้นทาง “R3A” หรือเส้นทาง “คุนมั่น กงลู่” (คุนหมิง-กรุงเทพฯ) เนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน
แสนเส้นทางยาวไกลของการเดินทาง ระหว่างวันที่ 2 – 8 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา เริ่มนับหลักไมล์จากอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ย้อนขึ้นไปสู่นครคุนหมิงอันเป็นเมืองต้นทางของเส้นทาง R3A ฉันได้เก็บเกี่ยวเรื่องราวมากมายบนเส้นทางนี้
ที่อำเภอเชียงของ ลมหนาวสัมผัสกายฉันเบาๆ ทำให้ฉันหลับตานึกถึงภาพเมืองนี้เมื่อกว่า 10 ปีก่อน วันนั้นกับวันนี้ในความเป็นเชียงของเปลี่ยนไปมากพอสมควร คงเป็นเพราะที่นี่เป็นจุดพักและเปลี่ยนถ่ายสินค้าบนถนน R3A จึงทำให้ทุนจีนเริ่มหลั่งไหลเข้ามาลงทุนในพื้นที่อย่างคึกคัก
ฉันออกมาทักทายแม่น้ำโขงที่คุ้นเคยในยามเช้า ฟากฝั่งโน้นคือเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว กล่าวได้ว่าวันนี้มีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก ซึ่งแม้การพัฒนาของทั้งสองเมืองจะเจริญรุดหน้าไปตามกาลเวลา แต่สายน้ำโขงก็ยังโน้มเหนี่ยวเกี่ยวไทยและลาวไว้อย่างแนบแน่นตราบนาน
ฉันและคณะที่ร่วมเดินทาง นั่งรถบัสข้ามสะพานแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 จากด่านชายแดนอำเภอเชียงของเข้าสู่ดินแดนสปป.ลาวที่เมืองห้วยทราย มุ่งสู่ชายแดนจีนที่เมืองหล้า ซึ่งเป็นประตูสู่สิบสองปันนา มณฑลยูนนาน
ที่บ้านน้ำฟ้า ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆก่อนถึงเมืองหลวงน้ำทา เป็นจุดแวะพักระหว่างทางเพื่อยืดเส้นยืดสาย เข้าห้องน้ำ มีชาวบ้านตั้งร้านค้าขายของกิน ทั้งมันปิ้ง กล้วยปิ้ง ข้าวโพดต้ม ส้มโอ ส้มและอ้อย ซึ่งการพัฒนาของถนน R3A ทำให้ชาวลาวที่อยู่บนเส้นทางผ่าน มองเห็นโอกาสก่อเกิดธุรกิจเล็กๆนี้ขึ้นมา แม้เป็นเพียงร้านค้าริมทางธรรมดาๆ แต่ก็น่าจะพอเป็นรายได้เสริมหล่อเลี้ยงครอบครัวได้อีกทางหนึ่ง
ลมหนาวพัดพาฉันมาถึงเมืองเชียงรุ่ง เมืองเอกของเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ความเปลี่ยนแปลงของสิบสองปันนา เมืองวัฒนธรรมที่มีชาวไทลื้อเป็นรากฐานแห่งประวัติศาสตร์ วันนี้ได้ก้าวข้ามไปสู่ความทันสมัย ที่มีภาพฉายชัดคือ ตึกสูง คอนโดมิเนียม โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่เต็มคับพื้นที่เมือง ความเก่าไม่ว่าจะเป็นชุมชนไทลื้อ บ้านแบบเก่า การแต่งกาย ความเป็นอยู่ วิถีชีวิต วิถีวัฒนธรรมแทบจะถูกกลืนสิ้น
ทว่า เมืองเชียงรุ่งก็ยังมีบางมุมที่ฉันชอบ คือต้นไม้ที่ร่มครึ้มตลอดแนวทางเดินเท้า และช่องทางจักรยาน (Bike Lane) ที่แยกสัดส่วนชัดเจน แม้คนจีนในเมืองนี้จะปั่นจักรยานกันลดลงอย่างน่าตกใจ ต่างจากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ที่คนจีนนิยมใช้จักรยานในการสัญจรกันเกือบทั้งเมือง แต่วันนี้ฉันก็ยังรู้สึกดีใจ ที่ได้เห็นคนจีนส่วนน้อย ยังดำรงวิถีการเดินและการปั่นจักรยานอยู่บ้าง
ฉันต้องหยิบเสื้อโค้ทตัวหนามาใส่เมื่อเข้าสู่เขตจังหวัดผูเอ่อร์ เพราะอากาศเย็นขึ้นเรื่อยๆ “ผูเอ่อร์” เป็นอีกเมืองหนึ่งที่ตั้งอยู่บนถนน R3A เป็นเมืองที่โอบล้อมด้วยหุบเขาไร่ชาออร์แกนิก แหล่งผลิต “ชาผูเอ่อร์” อันลือเลื่อง เมืองมีขนาดกะทัดรัด น่ารักและโรแมนติก มีการวางระบบผังเมืองที่เหมาะสมและลงตัว ทั้งการวางผังที่อยู่อาศัยและการจราจร เป็นเมืองที่ส่งเสริมเรื่องการเดินและการใช้จักรยานเชื่อมโยงกับระบบขนส่งมวลชน เป็นเมืองที่มีความทันสมัย แต่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)
ในมุมมองของฉัน เมืองแบบนี้แหละ คือเมืองที่มีประสิทธิภาพ (Efficiency City) คือเมืองที่สะดวกสบาย (Comfortable City) คือเมืองสีเขียว (Green City) คือเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน (Livable & Sustainable City)
บนถนนหลายสายของเมืองผูเอ่อร์ มีคนใช้จักรยานในการสัญจรอยู่พอสมควร แม้ปริมาณคนปั่นไม่มากนัก แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่มาเติมเต็มให้เมืองน่าอยู่ ผู้คนที่นี่มีชีวิตที่ดำเนินไปอย่างช้าๆ ไม่รีบเร่ง ฉันชอบเมืองนี้
ผ่านมาถึงอำเภอทงไห่ จังหวัดยวี่ซี เป็นอีกเมืองที่อยู่บนเส้นทาง R3A อากาศที่นี่ค่อนข้างหนาวมาก ฉันกวาดสายตาดูโดยรอบของเมือง ผู้คนใช้จักรยานสัญจรกันน้อยมาก แต่เมืองนี้ก็มีความสำคัญและน่าสนใจอยู่มิใช่น้อย ด้วยเพราะเป็นดินแดนแห่งการปลูกพืชผักในสัดส่วนมากถึง 50% ของโครงสร้างทางเศรษฐกิจของจังหวัด และเป็นระบบการเกษตรที่เป็นออร์แกนิกทั้งเมือง ช่างเป็นความล้ำหน้าอีกด้านหนึ่งของประเทศจีน และดูอลังการเป็นอย่างมาก
จากดินแดนผักออร์แกนิก ฉันได้เข้ามาอยู่ในเมืองที่เต็มไปด้วยตึกสูงระฟ้า การจราจรคับคั่ง ประชาชนล้นเมือง อากาศเย็นยะเยือก กับม่านหมอกที่ปกคลุมไปทั่วทั้งเมือง คือบรรยากาศที่ฉันได้มาสัมผัสในช่วงต้นฤดูหนาวของนคร “คุนหมิง” เมืองหลวงของมณฑลยูนนาน และที่นี่คือ ต้นทางของถนนสาย R3A (คุนหมิง – กรุงเทพฯ)
แต่เชื่อไหม! มีสิ่งหนึ่งที่แทรกซึมอยู่ในเมืองใหญ่แห่งนี้ได้อย่างกลมกลืน คือ “จักรยาน” ที่ยังคงมีชาวจีนส่วนหนึ่งเลือกการสัญจรด้วยสองแรงน่อง จักรยานจึงมีให้เห็นอยู่บนถนนทุกสายที่ฉันผ่านไป แม้ปริมาณคนปั่นจะเพียงน้อยนิด แต่ความน้อยนิดของจักรยาน ก็บ่งบอกได้ว่า วิถีแห่งจักรยานยังไม่หายไปไหน แต่ยังคงดำรงอยู่
โครงข่ายคมนาคมในเมืองคุนหมิงถูกออกแบบไว้อย่างลงตัว สะท้อนถึงการวางผังเมืองที่สอดรับการเติบโตของเมืองได้เป็นอย่างดี และรองรับการใช้บริการของประชากรในทุกๆรูปแบบ หลากหลายทางเลือก มีการเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ ทั้งขนส่งสาธารณะ (รถเมล์ รถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดิน-Kunming Rail Transit-KRT) รวมถึงการเดินและการใช้จักรยาน
การเดินในเมืองคุนหมิงนั้นสะดวกดี เพราะทางเท้ามีขนาดกว้าง ไม่ว่าจะเป็นถนนสายหลัก สายรอง หรือแม้แต่ถนนซอย มีต้นไม้ทอดตัวยาวให้ร่มเงาตลอดทุกช่วงถนน ไม่มีสิ่งกีดขวาง ไม่มีการตั้งร้านขายของบนทางเท้า จึงทำให้น่าเดินเป็นอย่างยิ่ง ขณะที่ถนนหลักเกือบทุกสายได้จัดแบ่งช่องทางจักรยาน (Bike Lane) บนผิวจราจรช่องขวาสุด ซึ่งทั้งจักรยานและจักรยานไฟฟ้าสามารถใช้ร่วมกันได้ จะเดินหรือปั่นเพื่อไปเชื่อมต่อใช้บริการรถเมล์ รถไฟฟ้า หรือรถไฟใต้ดินก็สะดวกมาก
สำหรับการปั่นจักรยานในเมืองคุนหมิง ไม่ได้มีความยากลำบากอะไรนัก เพราะการมีช่องทางจักรยานเฉพาะ ทำให้ทุกอย่างดูง่ายขึ้น แม้ท่ามกลางความแออัดคับคั่งของการจราจรบนท้องถนน ผู้คนที่เดินขวักไขว่ แต่ทุกๆสองแรงน่องก็ยังคงปั่นไปอย่างไม่รีบเร่ง คืออีกหนึ่งวิถีช้าๆในเมืองหลวงแสนวุ่นวาย ที่ช่วยทำให้เมืองมีความน่าอยู่ขึ้นอย่างมาก
การได้ไปเยือนเส้นทาง R3A ในครั้งนี้ นับเป็นโครงการที่ได้ตอกย้ำความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนระหว่างไทย-จีนได้อย่างใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น
แม้วันนี้การลงทุนบนถนน R3A ทุนจีนก้าวรุกเร็วและหนักหน่วง ทุกๆเมืองของจีนมีอัตราการเติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่ฉันคิดว่าการพัฒนาทางเศรษฐกิจควรต้องดำเนินควบคู่ไปกับการอนุรักษ์เมือง ฉันอยากให้ทุกเมืองของประเทศจีนส่งเสริมความเป็นเมืองจักรยาน (Bicycle City) อันเป็นรากวิถีชีวิตที่ผูกพันกับชาวจีนมาช้านานนับแต่อดีต ซึ่งจะทำให้เมืองมีความน่าอยู่อย่างยั่งยืน
ท่ามกลางลมหนาว “จักรยาน” บนเส้นทาง R3A มีเสน่ห์และเป็นความพิเศษที่น่าประทับใจมากสำหรับฉัน