โดย มองเมือง
ในสถานการณ์ของแวดวงจักรยานตอนนี้ เป็นห้วงๆหนึ่งที่กลุ่มคนปั่นจักรยานหลายๆพื้นที่ทั่วไทย กำลังรวมตัวกันเพื่อหาแนวทางสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน แต่ล่าสุด กรณีข่าวจากกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) แจ้งว่า ที่ผ่านมาในกรุงเทพมหานคร ได้เกิดเหตุรถยนต์เฉี่ยวชนรถจักรยานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากความประมาทของผู้ขับขี่รถยนต์ ที่มีการขับบริเวณไหล่ทาง ทำให้เกิดอุบัติเหตุ
ทั้งนี้ ในส่วนของ บก.จร.จึงมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปทราบถึงการใช้รถจักรยานในทางรถ ไหล่ทาง หรือทางที่จัดไว้สำหรับรถจักรยาน ผู้ขับขี่จักรยานต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อป้องกันความปลอดภัยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 80, 81, 82 และ 83 ดังนี้คือ
1.กระดิ่งที่ให้เสียงสัญญาณได้ยินในระยะไม่น้อยกว่า 30 เมตร 2. เครื่องห้ามล้อที่ใช้การได้ดี เมื่อใช้สามารถทำให้รถจักรยานหยุดได้ในทันที 3. โคมไฟติดหน้ารถจักรยาน แสงขาวไม่น้อยกว่าหนึ่งดวงที่ให้แสงไฟส่องตรงไปข้างหน้าเห็นพื้นทางได้ชัดเจน ในระยะไม่น้อยกว่า 15 เมตรและอยู่ในระดับตํ่ากว่าสายตาของผู้ขับขี่ซึ่งขับรถสวนมา 4. โคมไฟติดท้ายรถจักรยาน แสงแดงไม่น้อยกว่าหนึ่งดวงที่ให้แสงสว่างตรงไปข้างหลัง หรือติดวัตถุสะท้อนแสงสีแดงแทน ซึ่งเมื่อถูกส่องให้มีแสงสะท้อน
ทั้งนี้ ผู้ขับขี่รถจักรยานยามค่ำคืน ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าว เพื่อให้ผู้ขับขี่หรือคนเดินเท้าซึ่งขับรถหรือเดินสวนมาสามารถมองเห็นรถได้ ผู้ขับขี่รถจักรยานต้องขับให้ชิดขอบทางด้านซ้ายของทางเดินรถไหล่ทาง หรือทางที่จัดทำไว้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ส่วนกรณีที่มีประกาศบังคับให้ช่องทางซ้ายใช้สำหรับเดินรถประจำทาง (ข้อเท็จจริงคือ ประกาศใช้กับถนนบางสายบางช่วง) ห้ามให้ผู้ขับขี่รถจักรยานขับขี่ดังนี้
1.ขับโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว อันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน 2.ขับโดยไม่จับคันบังคับรถหรือขับปล่อยมือ 3.ขับขนานกันเกิน 2 คัน เว้นแต่ขับในทางที่จัดไว้สำหรับจักรยาน 4.ขับโดยนั่งบนที่อื่น ที่มิใช่อานที่จัดไว้เป็นที่นั่งตามปกติ 5.ขับโดยบรรทุกผู้อื่น เว้นแต่รถจักรยานสามล้อสำหรับบรรทุกคน 6.ห้ามบรรทุกหรือถือสิ่งของใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวาง การจับคันบังคับรถหรืออาจจะเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน 7.เกาะหรือพ่วงรถอื่นที่กำลังแล่นอยู่
โดยตำรวจจราจรมีอำนาจในการเปรียบเทียบปรับ หากผู้ขับขี่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กำหนดโทษปรับไม่เกิน 200-500 บาท โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะนำไปปรับในสถานีพื้นที่ เพราะไม่สามารถออกใบสั่งได้ อย่างไรก็ตาม เจตนารมณ์ของรัฐอยากให้ผู้ขับขี่รถยนต์และจักรยานสามารถใช้ทางร่วมกันอย่างปลอดภัย ไม่ประมาทจะดีที่สุด
สถิติการเกิดอุบัติเหตุในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตบนท้องถนนคิดเป็น 19.6 ราย ต่อประชากร 100,000 คน/ปี แบ่งเป็น ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ร้อยละ 69.72 ผู้ขับขี่หรือโดยสารรถยนต์ 4 ล้อขึ้นไปร้อยละ 11 และเป็นผู้ขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานเพียงร้อยละ 2.8
กฎหมายนั้น เป็นบรรทัดฐานและมาตรฐานร่วมขั้นต่ำที่จะให้คนในสังคมได้ใช้เป็นระเบียบหรือกติการ่วมกัน เพื่อความปลอดภัยระหว่างกัน มาร่วมกันทำให้ถนนเมืองไทยปลอดภัยจากอุบัติเหตุที่จะเกิดกับทั้งตัวเราและ/หรือคนที่เรารัก ดังนั้น สิ่งที่นักปั่นทุกคนจำเป็นต้องปฏิบัติและยึดถือโดยเคร่งครัดคือ สัญลักษณ์ กฎหมาย
ผมเชื่อว่า หลายๆคนก็สวมบทที่หลากหลาย ทั้งเป็นนักปั่นจักรยาน คนขับรถยนต์ คนใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน และคนเดินถนน จึงไม่ควรมามัวมองว่า กฎกติกามีไว้เพื่อมาลิดรอนสิทธิหรือควบคุมบังคับใคร แต่เป็นกติกาเพื่อปกป้องสิทธิทุกฝ่ายระหว่างกันครับ
น้าเป็ด สมาชิกกลุ่มเมืองจักรยาน ให้คำแนะนำสั้นๆ ว่า “รู้จักรถ รู้จักกฎ รู้จักทาง และรู้จักตน” คนใช้รถใช้ถนนทุกคนทุกพาหนะ ก็น่าจะช่วยทำให้ถนนหนทางทั่วไทยน่าใช้และปลอดภัยขึ้นอีกเยอะ” นะครับ
เครดิต ประชาสังคมออนไลน์ “กลุ่มเมืองจักรยาน”
ภาพประกอบ : รูปจากสื่ออินเตอร์เน็ต