โดย Sutida
การเร่งรุดพัฒนาเมืองในมิติเชิงเศรษฐกิจ ได้ส่งผลให้การพัฒนาเมืองในด้านอื่นๆถูกละเลยไปมาก โดยเฉพาะคุณภาพชีวิตของพลเมือง
แม้ในความเป็นเมือง ที่ฉาบทับด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจ จะมีฉากหน้าคือ ความก้าวหน้าและมั่งคั่ง ทว่า ฉากหลังกลับผูกพ่วงมาด้วยความไม่เท่าเทียมในสังคม กลายเป็นเมืองที่ไม่มีความเท่าเทียม ไม่เว้นแม้แต่บนถนนสาธารณะ
หลายๆคน รวมทั้งฉัน ชื่นชอบสไตล์การพัฒนาเมืองของหลายๆประเทศในยุโรป ทั้ง “อัมสเตอร์ดัม” เมืองหลวงของเนเธอร์แลนด์ ที่ขึ้นชื่อชั้นเป็นเมืองจักรยานของโลก “โคเปนเฮเกน” เมืองหลวงของเดนมาร์ก ที่เด่นชัดในความเป็นเมืองสีเขียวแห่งการปั่นจักรยาน รวมถึง “โบโกต้า” เมืองหลวงของโคลัมเบีย ที่พลิกจากเมืองอาชญากรรมสู่เมืองจักรยานได้อย่างน่าทึ่ง
ในด้านหนึ่งอันสำคัญยิ่งของประเทศที่น่าชื่นชมทั้ง 3 ประเทศนี้ ต่างก็ผ่านจุดแห่งความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจมาเหมือนๆกัน โดยมีคำตอบของก้าวหน้าและมั่งคั่งคือ รถยนต์ที่แออัดเต็มท้องถนน มลพิษทางอากาศ เสียงอึกทึก สถิติอุบัติเหตุจราจรเพิ่มขึ้น ความปลอดภัยสำหรับคนเดินเท้าและคนปั่นจักรยานอยู่ในระดับต่ำ และมีผู้คนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์จำนวนมาก เป็นความรุ่งเรืองที่สูญเสีย
สิ่งที่ปรากฏ แสดงให้เห็นว่า ความก้าวหน้าและมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่คำตอบที่จะนำพามาสู่คุณภาพชีวิตที่ดีเสมอไป ทั้งอัมสเตอร์ดัม, โคเปนเฮเกน และโบโกต้า จึงเลือกที่จะสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นบนท้องถนน ด้วยแนวทางนโยบายของภาครัฐที่มุ่งให้พลเมืองพึ่งพาพลังงานให้น้อยลง วางโครงสร้างพื้นฐานที่สมบูรณ์ (Complete Infrastructure) เพื่อรองรับการเดินทางที่หลากหลายและเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ ทั้งทางเท้า ทางจักรยานและขนส่งมวลชน ด้วยเป้าหมายที่ว่า เมืองต้องเป็นที่อยู่อาศัย เป็นเมืองที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี พลเมืองของทั้ง 3 ประเทศจึงมีโอกาสเข้าถึงพื้นที่สาธารณะอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นคนเดินถนน คนปั่นจักรยาน หรือคนขับรถยนต์
ความเป็นเมืองของอัมสเตอร์ดัม, โคเปนเฮเกน และโบโกต้า จึงได้ก้าวข้ามมาเป็นเมืองจักรยานอย่างทุกวันนี้
ฉันมองปัญหาบนท้องถนนอันเป็นพื้นที่สาธารณะของเมืองไทยในปัจจุบัน ซึ่งไม่แตกต่างจากประเทศทั้ง 3 นั้น ด้วยเพราะในห้วงนี้เราอยู่ในจุดแห่งความเจริญรุ่งเรืองและมั่งคั่ง ที่สะท้อนชัดความไม่เท่าเทียม อันเป็นอุปสรรคใหญ่ของการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน และกำลังกลายเป็นความขัดแย้งเชิงพื้นที่ (Spatial Conflicts)ระหว่างกลุ่มคนที่ใช้ถนน
ด้านหนึ่ง ในสถานะของคนเดินเท้า หรือคนปั่นจักรยาน ย่อมมีสิทธิได้รับการอำนวยความสะดวกในการเดินทางและความปลอดภัยในชีวิตเช่นเดียวกับรถยนต์ส่วนตัว รถจักรยานซิตี้ไบค์ราคาหลักพัน ย่อมสำคัญไม่น้อยไปกว่ารถยุโรปหรูราคาหลักล้าน
การเรียกร้องหรือการมีความฝันให้บ้านเราเป็น “เมืองจักรยาน” แบบหลายๆประเทศ ไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ คำตอบอยู่ที่การสรรค์สร้างถนนสาธารณะให้เป็นถนนที่มีประสิทธิภาพ (Effective Road) ที่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของพลเมืองทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม ไม่ใช่ถนนที่เต็มไปด้วยรถยนต์ที่แล่นเร็วเป็นหลักใหญ่
ถนนที่มีประสิทธิภาพ (Effective Road) จะต้องถูกเชื่อมโยงด้วยขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ ทางจักรยานที่มีมาตรฐาน ทางเท้าที่ปลอดภัยเข้าไว้ด้วยกัน เพราะการสัญจรที่สะดวกสบาย ย่อมทำให้เกิดแรงจูงใจในการลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนตัวลงได้มาก
การมุ่งไปสู่ความเป็น “เมืองจักรยาน” ของเมืองไทย อาจเป็นสิ่งที่เกินเอื้อม หากการพัฒนาถนนสาธารณะ ไม่ได้สร้างให้เกิดความเท่าเทียมตามหลักประชาธิปไตย (Democratic Equality)