โดย มองเมือง
มาทำความรู้จักสภาพการณ์จราจรและการคมนาคมขนส่งของประเทศเพื่อนบ้านใกล้ๆ ไทยเรา คือ นครกัลกัตตา ประเทศอินเดีย เนื่องจากกัลกัตตา (Calcutta/Kolkata) เป็นมหานครใหญ่ จึงมีระบบและโครงข่ายคมนาคมขนส่งขนาดใหญ่ ทั้งการสัญจรทางอากาศ รถไฟและรถราง รถโดยสารประจำทาง รถรับจ้าง และการสัญจรส่วนบุคคล
การสัญจรทางอากาศ ปัจจุบันมีบริษัทการบิน 4 บริษัท คือ การบินไทย (Thai Airway: TG) เจ็ตแอร์เวย์ส (Jet Airways: 9W) อินดิโก (IndiGo: 6E) และแอร์เอเชีย (AirAsia: AK) ที่บินตรงระหว่างกรุงเทพ-กัลกัตตา ท่าอากาศยานประจำนครกัลกัตตาคือ ท่าอากาศยานนานาชาติเนตาจี สุภาษ จันทรโภช (Netaji Subhas Chandra Bose International Airport: CCU) ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางตะวันออกเฉียงเหนือราว 17 กิโลเมตร
การสัญจร ระบบราง นครกัลกัตตามีรถไฟเชื่อมจากเมืองใหญ่ของอินเดียทุกเมืองและจากหลากหลายรัฐในประเทศ มีสถานีรถไฟที่สำคัญ ได้แก่ Howrah (HWH) ซึ่งเป็นสถานีรถไฟที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอินเดีย. Kolkata (KOAA) และ Kolkata Sealdah (SDAH) อีกทั้งมีรถไฟใต้ดินภายในเมืองให้บริการในช่วง 07:00-22:00 น. และเป็นรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรก (Subway/underground) สายแรกในประเทศอินเดีย นอกจากนั้น กัลกัตตายังเป็นเมืองเดียวในประเทศที่ยังมีระบบรถรางใช้อยู่ ซ้ำยังเป็นรถรางไฟฟ้าแห่งแรกของทวีปเอเชีย อีกด้วย !!!!
รถโดยสารประจำทาง (Mail/Minibus) รถเมล์ในกัลกัตตามีอยู่จำนวนมาก หมายเลขและเส้นทางจะเขียนติดไว้หน้ารถและด้านข้างมักเป็นภาษาเบงกาลีและภาษาอังกฤษ สามารถสอบถามเส้นทางได้จากพนักงานบนรถหรือพนักงานตามป้าย รถเมล์ส่วนมากทาสีฟ้า-เหลือง เป็นบัสขนาดเล็ก ส่วนรถเมล์รุ่นใหม่จะใช้ป้ายอิเล็กทรอนิกส์เป็นภาษาอังกฤษ และมีขนาดคันรถใหญ่ขึ้นกว่าเดิม
รถรับจ้างอื่นๆ รถแท็กซี่สีเหลืองล้วน (Taxi Cab) มีการติดตั้งมิเตอร์ค่าโดยสาร รถสามล้อเครื่องซึ่งมีเหลืออยู่จำนวนน้อยแต่ก็มีมิเตอร์ฯ ติดตั้งเหมือนกัน
ปัจจุบัน นครกัลกัตตา มีประชากร 14 ล้านคน คิดและมองล่วงหน้าไปได้ไม่ยากนักว่า พลเมืองที่มากมายขนาดนี้ ย่อมจะเกิดผลกระทบด้านต่างๆ มากมายเพียงใด และกระบวนการตัดสินใจในการป้องกันและแก้ไขปัญหาในเรื่องสำคัญเหล่านั้น ถือเป็นสามัญสำนึกแรกๆ ที่ภาครัฐและหน่วยงานเกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญและเร่งดำเนินการเชิงรุก !! เชื่อไหมว่า นครกัลกัตตานี้ มีการใช้จักรยานเป็น “การสัญจรพื้นฐาน” (primary mode of transport) ของพลเมือง โดยประชากรเมืองถึงร้อยละ 11 (ของ 14 ล้านคน) ใช้จักรยานในการสัญจรในชีวิตประจำวัน
น่าทึ่งขึ้นไปอีกว่าทางภาครัฐ ได้กำหนดมาตรการห้ามหรือไม่อนุญาตให้พลเมืองปั่นจักรยานสัญจรไปตามถนนสายต่างๆ เกือบ 200 สาย ภายในนครกัลกัตตาในระหว่างวัน
ข้อมูลกล่าวถึงอีกว่า พลเมืองร้อยละ 11 (ของทั้งสิ้น 14 ล้านคน) ใช้จักรยานสองล้อในการสัญจรทั่วเมืองมากถึง 2.5 ล้านเที่ยวต่อวัน ขณะที่พลเมืองส่วนอื่น มีการใช้รถยนต์เพียงร้อยละ 8 ของพลเมืองทั้งหมดเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ความเร็วในการสัญจรเฉลี่ยของเมือง จึงทำได้เพียง 8-11 ไมล์ (หรือราว 13-18 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) เท่านั้น !!
ประเด็นที่ผมทึ่งยิ่งกว่าคือ
1) ในเมื่อพลเมืองใช้การสัญจรด้วยการปั่นเป็นหลัก (จักรยาน ร้อยละ 11 รถยนต์ ร้อยละ 8) แล้วทำไมรัฐจึงต้องห้ามใช้จักรยานในถนนสายสำคัญ 200 สายทั่วมหานครกัลกัตตา
2) ในเมื่อมีการใช้จักรยานมากกว่ารถยนต์ แต่ทำไมภาครัฐของนครกัลกัตตายังให้ความสำคัญแก่รถยนต์มากกว่า นั่นหมายถึง ให้ความสำคัญแก่คนชั้นกลางและคนชั้นสูง ที่เป็นพลเมืองส่วนน้อยและกระแสจราจรส่วนน้อย แทนที่จะให้ความสำคัญต่อคนจน และคนชั้นกลางเป็นหลัก ??
3) ในเมื่อนครกัลกัตตามีการใช้จักรยานสัญจรมากกว่ารถยนต์ ทำไมการบริหารจัดการการคมนาคมขนส่งของภาครัฐ จึงให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงข่ายถนนเพื่อรองรับรถยนต์มากกว่าการสัญจรเพื่อการเดินและปั่นอย่างแตกต่างกันลิบลับ ทำไมระยะเวลาที่ผ่านมาหลายสิบปี ภาครัฐจึงไม่เร่งส่งเสริมโครงข่ายสัญจรเพื่อจักรยานและการเดิน เช่น ทางเท้าที่กว้างกว่าปัจจุบัน ไบค์เลนที่ปลอดภัย และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เพื่อการเดินและปั่น (เช่น แนวร่มไม้ ที่จอดจักรยาน ร้านซ่อมจักรยาน ฯลฯ)
หันกลับมามองประเทศไทย แม้เมืองใหญ่ต่างๆ ทั่วไทย พลเมืองส่วนใหญ่ใช้รถมอเตอร์ไซค์และรถยนต์ส่วนบุคคลเป็นหลัก และมากกว่าการสัญจรด้วยจักรยานหลายเท่าตัวก็ตาม แต่ปรากฏการณ์วิกฤติจราจรที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ก็สะท้อนให้เห็นแล้วว่า จักรยานไม่ได้เป็นสาเหตุให้กีดขวางต่อการจราจรความเร็วสูง (รถยนต์-มอเตอร์ไซค์) แบบที่ภาครัฐของนครกัลกัตตา (อินเดีย) และนครเซี่ยงไฮ้-ปักกิ่ง (จีน) โบ้ยสาเหตุให้จักรยาน ซ้ำยังออกมาตรการมากมายเพื่อบั่นทอนและลดทอนผู้ใช้จักรยาน หรือไม่มีการส่งเสริมการใช้จักรยานให้เป็นการคมนาคมกระแสหลักของเมือง สภาพการจราจรของเมืองใหญ่ทั่วไทย ก็ใกล้เข้าสู่ภาวะปิดตายอยู่รอมร่อทั้งจากนโยบายส่งเสริมการสัญจรที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป (Motorized Transportation) และการไม่ส่งเสริมหรือเพิกเฉยต่อการส่งเสริมการสัญจรหลากทางเลือก โดยเฉพาะการทำให้เมืองเป็นเมืองแห่งการเคลื่อนที่ช้าแต่ยั่งยืน (Slow-life City)
คำถามคือ
ภาครัฐของเมืองต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งภาครัฐส่วนกลางและภาครัฐส่วนท้องถิ่นทั่วไทย ควรดำเนินนโยบายสาธารณะนานาประการที่จะลดทอนการสัญจรทางเลือก เช่น การเดินและการใช้จักรยานของพลเมือง โดยไปเพิ่มการพัฒนาโครงข่ายถนนเพื่อรถยนต์อย่างสุดโต่งอีกต่อไป หรือภาครัฐของเมืองต่างๆ ทั่วโลกและทั่วไทยควรหันกลับมาทบทวนโดยด่วน ถึงการเร่งพัฒนาส่งเสริมการสัญจรหลากทางเลือกโดยเฉพาะการพัฒนาเมืองแห่งการเดินและปั่น เมืองนิเวศที่ร่มเย็น ประหยัดพลังงาน มลพิษต่ำ และเมืองที่น่าอยู่น่าเที่ยวด้วยกลยุทธ์การเคลื่อนที่อย่างยั่งยืนหรือการสัญจรสีเขียว (Sustainable Mobility / Green Mobility) กันแน่ ????
คุยกันเรื่องกัลกัตตา ทำให้ผมหวนนึกถึงบทกวีของท่าน รพินทรนาถ ฐากูร มหากวีและปรัชญาเมธี ผู้มีเรือนกำเนิดจากกัลกัตตา เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ประจำปี ค.ศ. 1913 และเป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ เขาสร้างบทกวีชื่อ คีตาญชลี (song offerings / prayer offering of song) แปลเป็นภาษาไทยโดยท่านกรุณา กุศลาศัย ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2512 ในท่อนที่ว่า