เรื่อง/ภาพ ชาจีน
การออกมาขยับจับจักรยานเพื่อการใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นเพียงการเริ่มต้นก้าวแรกของการมุ่งไปสู่เมืองจักรยาน แต่ก้าวต่อไปอีกหลายๆก้าว จำเป็นต้องมีพลังการตื่นตัวของเมืองจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน จึงจะทำให้เมืองๆนั้นพัฒนาไปสู่วิถีเมืองจักรยานได้อย่างสมบูรณ์
การกำหนดหรือจัดทำแผนส่งเสริมพัฒนาเมืองจักรยาน นับเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ เพราะเป็นตัวกำหนดทิศทางที่จะมุ่งไป ควบคู่ไปกับการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับการใช้จักรยานของคนทุกกลุ่มในชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดกติกาของสังคมในการใช้เขตทางร่วมกันระหว่างผู้ใช้พาหนะหลากทางเลือก ทั้งรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ จักรยาน หรือแม้แต่คนเดินเท้า
เมืองๆหนึ่งที่พูดได้ว่าเป็นเมืองจักรยานอย่างเต็มรูปแบบก็คือ อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งมีวิถีแห่งจักรยานที่เป็นวัฒนธรรมของเมือง เพราะเมืองแห่งนี้มีการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันของคนในเมือง
กล่าวได้ว่า “ลับแล” เป็นเมืองจักรยานที่เด่นชัดที่สุดในประเทศไทย ด้วยการส่งเสริมอย่างจริงจังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือเทศบาลตำบลศรีพนมมาศ ที่กำหนดแผนการพัฒนาเมืองจักรยานร่วมกับประชาชน เพื่อต้องการรักษาวัฒนธรรมจักรยานที่มีมานับแต่อดีต สร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนให้ช่วยกันฟื้นวัฒนธรรมการใช้จักรยาน
วิสัยทัศน์ของผู้บริหารเทศบาลตำบลศรีพนมมาศ ที่ให้ความสำคัญเรื่องเมืองนิเวศและเมืองคาร์บอนต่ำ นำมาสู่นโยบายส่งเสริมการพัฒนาเมืองจักรยาน จัดสรรงบประมาณ เพื่อนำมาซื้อจักรยานจำนวน 1,000 คัน ภายใต้โครงการยืมจักรยานไปใช้ในชีวิตประจำวัน มีประชาชนเข้าร่วมโครงการมากกว่า 700 ครัวเรือน จากทั้งหมด 1,108 ครัวเรือน
เมืองขนาดเล็ก เมืองกระชับ หลายๆเมือง ควรมุ่งจัดการโครงสร้างพื้นฐานของเมืองที่เอื้อต่อการสัญจรหลากหลายทางเลือก โดยเฉพาะการพัฒนาสภาพเมืองเพื่อการปั่น ที่จะเป็นกลยุทธ์สำคัญในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า เหมือนเช่น “เมืองลับแล” ที่เป็นเมืองจักรยานได้อย่างทุกวันนี้